Robotic Surgery เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

เทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ช่วยในการรักษาโรค วินิจฉัย รวมถึงรักษาอาการต่าง ๆ วันนี้เราจึงได้นำหนึ่งในเทคโนโลยีทางวิศวกรรมของหุ่นยนต์ ที่ได้มีการพัฒนาเพื่อนำมาใช้งานจริงในวงการแพทย์แล้ว นั่นก็คือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic Surgery

                หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีข้อดีคือช่วยให้แผลเล็ก มีอาการบาดเจ็บน้อย และคนไข้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งแนวคิดของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดนี้เริ่มมาจากการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้แทนมนุษย์ ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่คนไม่สามารถเข้าไปได้ จนมาถึงการนำมาใช้งานทางด้านการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในทุกที่เช่นกัน อย่างเช่น ในสมรภูมิสงคราม หรือในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการแพทย์อย่างเร่งด่วน และแพทย์ไม่สามารถไปถึงสถานที่นั้นได้ในทันที จึงได้เริ่มทำการคิดค้นหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยเป็นการควบคุมมาจากระยะไกลโดยศัลยแพทย์

จุดเริ่มต้นของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1985 โดยเป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการเจาะชิ้นเนื้อสมอง จนต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยผ่าตัดเป็นครั้งแรก ในการช่วยผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต จนได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เรื่อยมาเพื่อใช้เป็นการแพทย์ในปัจจุบัน            

                หุ่นยนต์ที่ช่วยทำการผ่าตัดจะมีกระบวนการทำงานประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนของชุดสั่งการ ตัวควบคุม และตัวหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชนิดนี้จะถูกออกแบบมาให้มี 4 แขน โดยมีหลักการทำงานคือ 1 แขนจะทำหน้าที่ถือกล้อง ส่วนอีก 3 แขนจะทำหน้าที่ผ่าตัด โดยมีศัลยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ควบคุมด้วยการมองผ่านจอภาพเพื่อส่งคำสั่งไปยังแขนของหุ่นยนต์ให้ผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการ ทั้งการกรีด ตัด และเย็บเนื้อเยื่อ และด้วยกล้องที่มีความคมชัดอย่างแม่นยำ จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยุ่งยากน้อยลง

                ปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ช่วยผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และยังช่วยในเรื่องของความแม่นยำมากกว่าการผ่าตัดด้วยมือของศัลยแพทย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อกำจัดของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงรวมถึงศัลยแพทย์ที่จะทำการบังคับและควบคุมหุ่นยนต์ประเภทนี้ได้จะต้องได้รับการฝึกฝนและเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น

 

 

Continue Reading