ซื้อรถยนต์ประกอบนอกกับประกอบไทยแบบไหนที่คุณภาพไว้ใจได้มากกว่ากัน?

                เราเชื่อว่าความเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเลือกซื้อรถยนต์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานก็คือ ความเชื่อที่ว่าการเลือกซื้อรถยนต์ประกอบนอกนั้นมีคุณภาพดีกว่าซื้อรถยนต์ประกอบในประเทศเรา ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะประเทศนอกที่ประกอบรถยนต์คันนั้นเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าประเทศพัฒนาแล้ว มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และคุณภาพของประชากรที่สูงกว่านั่นเอง และรถยนต์ออกใหม่ป้ายแดงที่ประกอบจากบ้านเราในตอนนี้ก็ก่อให้เกิดวิกฤติความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะบางคันมีการออกข่าวว่าขับออกมาจากโชว์รูมได้เพียงวันเดียวก็เสียจนวิ่งไม่ได้ซะแล้ว ต้องนำไปซ่อมทำให้ลูกค้าต้องใช้รถอีกเป็นเดือน และเพื่อเป็นการไขข้อข้องใจว่ารถยนต์ประกอบนอกดีกว่ารถยนต์ประกอบในไทยจริงหรือไม่ วันนี้เราได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว

ซื้อรถยนต์ประกอบนอกดีกว่าซื้อรถยนต์ประกอบในไทยจริงเหรอ?

หลายคนยังไม่ทันได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้วว่ารถยนต์ประกอบนอกดีกว่าประกอบไทย เห็นได้อย่างชัดเจนว่าช่วงที่เมืองไทยน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 ที่โรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นหลายแห่งน้ำท่วมจนไม่มีรถยนต์ในเมืองไทยพอจำหน่าย จนต้องนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นมาจำหน่ายแทน ทำให้คนไทยเรารู้สึกยินดีปรีดาเป็นพิเศษที่จะได้ใช้รถยนต์ประกอบนอก แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะรถยนต์ประกอบนอกหรือประกอบในประเทศไทย หากเป็นรุ่นเดียวกันคุณภาพแทบไม่ได้ต่างกันเลย เพราะยานยนต์แต่ละบริษัทจะมีการควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนดอยู่แล้ว ส่วนรถยนต์ประกอบนอกนั้นมักจะมีข้อเสียเวลาที่รถเสียต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพราะอะไหล่บางตัวต้องนำเข้า ของแท้ มีราคาแพงและรอนานด้วย หลายคนที่ใช้รถยนต์ประกอบนอกถึงกับต้องนั่งกุมขมับไม่มีรถยนต์ใช้ในช่วงที่ต้องรออะไหล่

รถยนต์ประกอบในประเทศไทยคุณภาพไม่แพ้ที่ใดในโลก?

หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าไม่ว่ารถยนต์จะประกอบในไทยหรือประกอบนอกก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคได้เช่นกัน ไม่ใช่เพราะฝีมือแรงงานไม่ได้มาตรฐาน แต่อาจเป็นเพราะความผิดปกติเล็กน้อยของชิ้นส่วนยานยนต์บางชิ้นที่อาจทำให้ระบบรวนได้ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรานั้นใหญ่ที่สุดในย่านอาเซียนแล้ว โดยในย่านนี้ ประเทศไทยเราได้ชื่อว่าเป็นดีทรอยด์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว เพราะมีประสบการณ์ในการประกอบรถยนต์มาหลายทศวรรษ มีค่ายยานยนต์ชื่อดังทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกามาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพของนิคมอุตสาหกรรมและมาตรฐานฝีมือแรงงานในแวดวงยานยนต์ของไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์บ้านประเทศไทยใหญ่มาก ในแบบที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเราใหญ่มากจริง ๆ ไม่เพียงแต่ประกอบรถยนต์แต่ละแบรนด์ขายให้คนไทยซื้อใช้เท่านั้น หลายแบรนด์ยังใช้โรงงานในประเทศไทยในการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงประกอบรถยนต์เพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกต่อด้วย และสินค้ายานยนต์จากประเทศไทยเราก็ได้รับความไว้วางใจในวงการยานยนต์ระดับสากลเลยทีเดียว ปัจจุบันมีค่ายยานยนต์แบรนด์ดังหลายค่ายมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย BMW, ไดฮัทสุ, ฟอร์ด, เจเนอรัล มอเตอร์, ฮอนด้า, อีซูสุ, มาสด้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, MG, มิตซูบิชิ, นิสสัน, TATA, ไทยรุ่ง, วอลโว่, โฟล์คสวาเกน, ยนตรกิจ มอเตอร์ เป็นต้น และในอนาคตก็จะมีค่ายยานยนต์ชั้นนำอื่น ๆ ที่มาตั้งเป้าจะมาตั้งฐานการผลิตในบ้านเรา

คราวนี้คุณก็คงได้ทราบแล้วนะว่าอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรานั้นคุณภาพยอดเยี่ยมไม่แพ้ที่ใดในโลก ดังนั้นขอให้มั่นใจในคุณภาพรถยนต์ประกอบไทยได้เลยว่าได้มาตรฐานทนทานไม่แพ้ยานยนต์ประกอบนอกแน่นอน แถมเวลาที่รถต้องการเปลี่ยนอะไหล่ก็ล้วนแล้วแต่มีอะไหล่ให้เลือกมามาย ทั้งอะไหล่แท้อะไหล่เทียบ เราจึงควรมั่นใจและร่วมใจกันสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดีกว่า

Continue Reading

ทำความรู้จักกับยานยนต์ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนซื้อมาใช้หรือไม่ในตอนนี้?

กระแสในโลกยานยนต์ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ ก็คือเรื่องของยานยนต์ไฮบริด (Hybrid) และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, EV) ที่รมีทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์แล้วในตอนนี้ หลายคนไม่รู้ว่าการลงทุนซื้อยานยนต์ทางเลือกพวกนี้ในตอนนี้ จะเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะแน่นอนว่ายานยนต์ทางเลือกพวกนี้ในปัจจุบันมีราคาสูงกว่ายานยนต์สันดาปภายในทั่ว ๆ ไปอยู่มากเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อตอบข้อสงสัยนี้ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นมาไว้ให้คุณได้ทราบกัน

ยานยนต์ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าคือมีหลักการทำงานอย่างไร?

                ก่อนที่จะไปตอบปัญหาการซื้อยานยนต์ทางเลือกในตอนนี้จะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เราควรจะมารู้จักหลักการทำงานของยานยนต์ทางเลือกกันก่อนดีกว่า โดยยานยนต์ไฮบริดนั้นคือยานยนต์ที่ใช้แหล่งพลังงานในการขับเคลื่อนรถแบบลูกผสม ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้า โดยยานยนต์ไฮบริดยังสามารถแบ่งย่อยได้ 2 ประเภทคือไฮบริดทั่วไป และไฮบริด plug-in โดยยานยนต์ไฮบริดทั่วไปนั่นจะอาศัยพลังงานงานของรถที่ใช้ในการเบรกมาผลิตพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ จากนั้นแบตเตอรี่จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับมอเตอร์เพื่อช่วยในการออกตัว หรือจังหวะที่มีการเร่งความเร็ว ส่วนยานยนต์ไฮบริด plug-in นั้นก็มีความสามารถเช่นเดียวกับยานยนต์ไฮบริดแบบทั่วไป แต่ที่เหนือกว่าคือมีแบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่า สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่า สามารถเสียบชาร์จพลังงานไฟฟ้าจากไฟบ้านได้ และที่สำคัญคือมีโหมดสำหรับวิ่งแบบใช้ไฟฟ้า 100%

เมื่อได้รู้จักยานยนต์ไฮบริดไปแล้วคราวนี้มาทำความรู้จักยานยนต์ EV กันบ้าง ! ยานยนต์ EV คือยานยนต์ที่วิ่งด้วยไฟฟ้าแบบ 100% เช่นรถยนต์เทสล่า และนิสสันลิฟ โดยก่อนจะวิ่งรถยนต์จำเป็นจะต้องชาร์จไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ให้ได้มากที่สุด โดยการชาร์จไฟนั้นอาจจะใช้ไฟบ้านหรือใช้แท่นชาร์จด่วนของแบรนด์รถยนต์แต่ละยี่ห้อที่มีบริการตามจุดต่าง ๆ ของเมือง หากรถไม่มีไฟฟ้าในแบตเตอรี่หรือแบตหมด ก็จะไม่สามารถวิ่งต่อไปได้

ซื้อยานยนต์ทางเลือกตอนนี้ถือว่าคุ้มหรือไม่ ?

                สำหรับคำตอบว่าคุ้มหรือไม่นั้นอยู่ที่รูปแบบการใช้งาน หากคุณเป็นคนที่ใช้รถยนต์บ่อย ๆ ที่ต้องวิ่งในระยะทางไม่ไกลมาก อยู่ในเมืองเป็นประจำรถยนต์ EV น่าจะเหมาะมากแม้จะมีราคาแพงกว่ายานยนต์ทั่วไปอยู่มากที่เดียว แต่คิดดูว่าตลอดระยะเวลาที่คิดดูว่าตลอดระยะเวลาเป็นสิบปีที่คุณใช้งาน คุณจะไม่ต้องเติมน้ำมันอีกเลย แถมค่าดูแลรักษาก็ต่ำเพราะรถยนต์ไม่มีกลไกอะไรมาก มีแค่แบตเตอรี่กับมอเตอร์เท่านั้นเอง ส่วนรถยนต์ไฮบริดทั่วไปนั้นจะช่วยคุณประหยัดน้ำมันได้มากหากวิ่งในเมืองเป็นประจำ ที่ต้องมีจังหวะเบรกและออกตัวบ่อย ๆ แต่หากต้องวิ่งทางไกลประจำนั้นรถยนต์ไฮบริดทั่วไปแทบจะไม่เห็นผลในเรื่องการประหยัดน้ำมัน ส่วนไฮบริด plug-in ข้อดีของการใช้งานนั้นก็การใช้งานก็เช่นเดียวกับไฮบริดทั่วไป แต่ที่เหนือกว่าคือมีโหมดวิ่งเพียวไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลพอสมควร (หลายสิบกิโลเมตรเลยล่ะ) แถมยังวิ่งได้เงียบด้วย เมื่อแบตฯหมดก็จะเปลี่ยนมาวิ่งด้วยน้ำมันทันที

คราวนี้คุณคงรู้แล้วนะว่าการซื้อยานยนต์ทางเลือกจะคุ้มค่าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานและเงินที่คุณมีในกระเป๋า แต่ถ้าหากคุณมีเงินไม่มากในตอนนี้ การซื้อยานยนต์สันดาปภายในทั่วไปยังคงถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่ เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ที่ถูกปล่อยออกมาในตอนนี้ได้รับการอัพเกรดเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ในขณะที่ยานยนต์ทางเลือกยังถือว่ามีราคาสูงอยู่ในปัจจุบัน หากรอให้ในอนาคตมีราคาต่ำลงกว่านี้จะถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนมากกว่า

Continue Reading

โลกเราจะเป็นเช่นไรหากระบบขนส่ง “ไฮเปอร์ลูป” ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจังจนเป็นทางเลือกหลักในการใช้งาน?

หลายคนคงได้ทราบกันแล้วว่า ในแวดวงเทคโนโลยีและวิศวกรรมตอนนี้เรื่องราวของระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปเป็นกระแสที่มาแรงมากแค่ไหน หลังจากที่ได้เริ่มมีการก่อสร้างเส้นทางไฮเปอร์ลูปอย่างเป็นทางการสายแรกขึ้นในดูไบเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีประเทศร่ำรวยอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และจีน เป็นต้น ระบบไฮเปอร์ลูปในเวอร์ชั่นใช้งานจริงปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอัลฟ่า โมเดล ที่อีลอน มัสก์ได้นำเสนอเป็นครั้งแรกมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะระบบของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวันนั้นเรียกได้ว่าพร้อมเต็มที่แล้วสำหรับการติดตั้งใช้งาน ขอเพียงมีผู้ที่ใจกล้าพอที่จะตัดสินใจลงทุน

ระบบไฮเปอร์ลูปที่ใช้งานได้จริงในตอนนี้มีลักษณะเป็นเช่นไร?

ระบบไฮเปอร์ลูปที่ถูกนำมาใช้งานจริงในตอนนี้โดยบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวัน เป็นที่ใช้พอดวิ่งในท่อเช่นเดียวกับอัลฟ่า โมเดลที่อีลอน มัสก์ได้เริ่มต้นไว้ แต่การขับดันพอดจะไม่ได้อาศัยหลักการอัดอากาศให้พอดวิ่งไปข้างหน้า เหมือนกับการยิ่งปืนลมที่มัสก์ได้นำเสนอ เพราะหากทำแบบนั้นจะทำให้ยากต่อการควบคุมพอดและไม่ปลอดภัย เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวัน จึงเลือกใช้ระบบขับดันด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถควบคุมพอดได้ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่านั่นเอง

หากระบบไฮเปอร์ลูปถูกนำมาใช้งานจริงจะเกิดประโยชน์อย่างไร?

ระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก โดยพอดจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 1,200 กม./ชม. ภายในท่อสุญญากาศที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ ๆ ที่แต่ก่อนใช้รถไฟความเร็วสูงเดินทาง ที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอาจจะเหลือเพียงไม่กี่นาที ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเช่นนี้นอกจากจะเหนือกว่ารถไฟความเร็วสูงแล้ว ยังเหนือกว่าการใช้เครื่องบินที่ต้องมีระยะเวลาที่ต้องรอระหว่างขึ้นเครื่องและลงเครื่องนานมากด้วย และในระยะยาวแล้วความคุ้มค่าในการลงทุนไฮเปอร์ลูปนั้นจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะหากตั๋วมีราคาถูกกว่าเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูง ก็คาดว่าจะมีผู้คนสนใจใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะมีความสะดวกรวดเร็วคล่องตัวกว่า

มีการวิเคราะห์ว่าในช่วงเริ่มต้นนี้การลงทุนเส้นทางไฮเปอร์ลูปให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดควรเลือกเส้นทางที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ เช่น เส้นทางลอสแองเจลิสกับซานฟรานซิสโก หรือเส้นทางระหว่างสต็อกโฮล์มกับเฮลซิงกิ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งธุรกิจ จะมีผู้สนใจใช้บริการเป็นจำนวนมาก และส่วนมากจะเป็นคนมีฐานะที่ไม่เกี่ยงเรื่องราคาค่าตั๋วที่ตอนแรกอาจจะยังแพงอยู่ ทำให้ระยะเวลาในการคืนทุนเร็ว ในระยะยาวจึงสามารถลดราคาตั๋วเดินทางลงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังอดห่วงไม่ได้ก็คือเรื่องความปลอดภัย เพราะการเดินทางด้วยความเร็วสูงถึง 1,200 กม./ชม.นั้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาคงจะต้องร้ายแรงกว่ารถชนที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.ประสบอุบัติเหตุเป็น 10 เท่าแน่ แค่คิดก็ไม่อยากจะคิดต่อแล้ว นี่คือสิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องรับมือให้ดี และตอบสังคมให้ได้ว่ามีมาตรการป้องกันความปลอดภัยอย่างไร

Continue Reading

เยอรมนีเปิดตัวรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลก

การพัฒนาและคิดค้นทางเลือกของการใช้พลังงานแทนการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลก ที่ได้เข้าสู่การบริการเชิงพาณิชย์ในเขต Lower Saxony ของประเทศเยอรมนีแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 61 ที่ผ่านมา
รถไฟฟ้าขับเคลื่อนพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคันแรกของโลก

Alstom iLint ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีความเร็ว 140 กม./ชม. โดยรถไฟ Alstom Coradia iLint 2 ขบวนจะเริ่มวิ่งในเส้นทางที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ระหว่าง Cuxhaven Bremerhaven Bremervörde และ Buxtehude ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเดินรถไฟได้เคยใช้รถไฟเชื้อเพลิงดีเซล ที่ดำเนินการโดยบริษัท Eisenbahnen und Verkehrsbetriebe Elbe-Weser (EVB) มาก่อน

รถไฟขบวนใหม่นี้จะทำการเติมเชื้อเพลิงที่สถานีเติมไฮโดรเจน โดยการฉีดก๊าซไฮโดรเจนลงในถังเหล็กบรรจุขนาด 40 ฟุตที่สถานี Bremervörde เป็นจำนวน 1 ถัง เพื่อให้เพียงพอสำหรับระยะทางการวิ่ง 1,000 กิโลเมตร ส่วนสถานีเติมเชื้อเพลิงของบริษัท EVB จะเริ่มดำเนินการในปี พ. ศ. 2564 หลังจากที่ Alstom ส่งรถไฟ Coradia iLint จำนวน 14 ขบวนไปยังหน่วยงานขนส่งของ Landesnahverkehrsgesellschaft Niedersachsen (LNVG) แล้ว ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 81 ล้านยูโร

Henri Poupart-Lafarge ประธานและซีอีโอของ Alstom กล่าวว่า รถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลกกำลังจะเริ่มให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นศักราชใหม่ในสำหรับระบบขนส่งทางรถไฟรูปแบบปลอดสารเคมี ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานของทีมวิศวกรจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

รถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนการปล่อยมลพิษต่ำ ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ความสามารถในการทำงานของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนรถไฟที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

ดร. แบร์นด์อัลฮุสแมนน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของโลว์เออร์แซกซอน กล่าวว่า รถไฟเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศเยอรมนีในการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีใหม่ โดยการระดมทุนโครงการนวัตกรรมแห่งชาติด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นทางเลือกที่มีอัตราการการปล่อยมลพิษต่ำและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงดีเซล

รถไฟขบวนนี้ได้เปิดให้ทดลองนั่งไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทผู้ผลิตที่ทำการผลิตรถไฟมาเป็นเวลากว่า 60 ปี เชื่อมั่นว่ารถไฟคันนี้ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสูงอีกทั้งยังมีค่าความสามารถในการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้สูงถึง 90% และเป็นกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลถึง 50%

ถือเป็นการเปิดตัวนวัตกรรมของรถไฟฟ้าพลังงานทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษและการเกิดก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

Continue Reading

Mercedes-Benz เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบคันแรกของโลก

                เมื่อวันที่ 4 กันยายน 61 ที่ผ่านมา ที่เมืองสต็อกโอม ประเทศสวีเดน ค่ายรถชั้นนำระดับโลกอย่าง Mercedes-Benz ก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ที่สร้างความสนใจให้กับวงการรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าให้ฮือฮากันอีกยกใหญ่ เมื่อเบนซ์ ได้เปิดตัวรถ SUV ที่มีระยะทางการขับขี่ได้ถึง 450 กิโลเมตร พร้อมการออกแบบรูปทรงของรถที่มีความสวยงาม และการตกแต่งภายในที่หรูหรา พร้อมเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด ไม่เสียชื่อค่ายรถชั้นนำระดับโลก

การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบครั้งแรกจากค่าย Mercedes-Benz

ในการเปิดตัวครั้งนี้ CEO ของ Mercedes-Benz ได้กล่าวว่า ค่ายเบนซ์กำลังวางแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 รุ่นภายในปี 2022 และเชื่อว่าในอนาคตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมียอดขายเป็น 15 – 25% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2025

การเปิดตัวครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ค่ายรถชั้นนำจากประเทศเยอรมณีกำลังเปิดศึกรถยนต์ไฟฟ้ากับค่าย Tesla ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนมาใช้และสนใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เนื่องจากเริ่มราคาถูกกว่าและเป็นเจ้าของง่ายกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันที่มีราคาแพง

นอกจากนี้ CEO ของค่ายเบนซ์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเบนซ์ถึง 10 รุ่นจะทำให้เบนซ์สามารถรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของตลาดได้ถึง 60%

รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายเบนซ์ คู่แข่งที่น่ากลัวของค่าย Tesla

ก่อนหน้านี้ค่าย Tesla ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของโลก ยังไม่มีค่ายไหนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวนัก และผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บวกกับการยอมรับเงื่อนไขของการทำประกันแบบพรีเมียมจากค่าย Tesla ที่นำเสนอมาพร้อมกับการจำหน่ายรถยนต์ได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อเบนซ์เริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้เช่นเดียวกัน ก็ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่ Tesla จะต้องระวัง เพราะค่ายเบนซ์ได้รับการการันตีในเรื่องของคุณภาพมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์มาก่อนค่าย Tesla อย่างนานนม แต่ทั้งนี้ค่ายเบนซ์เองก็ทราบดีว่า Tesla นี่แหละที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของเบนซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราคาที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าเบนซ์จะลดราคาในสายการผลิตคุณภาพสูงมาแข่งกับค่ายอื่นได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะนี้ Tesla มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่าย 3 รุ่น ที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงกับรถยนต์ไฟฟ้าของเบนซ์รุ่นที่ได้ทำการเปิดตัวเป็นครั้งแรกนี้ แต่เบนซ์ก็ยังมั่นใจว่ารถยนต์รุ่นนี้เป็นรถยนต์ประเภท SUV ซึ่งถือเป็นประเภทรถที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด ที่มาพร้อมกับการทำงานโดยใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าครบวงจร ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อในเรื่องยอดขายว่าเบนซ์จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน

 

Continue Reading

Cyber Attack ภัยคุกคามยุคใหม่ ล่าสุดทำจอแสดงผลเที่ยวบินดับถึง 2 วัน

                ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของคนเรา ทำให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปรวมถึงรูปแบบของการโจมตีและการคุกคามที่มาในรูปแบบดิจิตอล เป็นสิ่งที่พบเห็นและต้องระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะล่าสุด ภัยไซเบอร์ไม่ได้เป็นการคุกคามเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลหรือการโจรกรรมเท่านั้น แต่ได้ลุกลามสร้างความเดือดร้อนไปยังระบบขนส่งสาธารณะอย่างในสนามบิน ทำให้การเดินทางของผู้คนต้องเกิดความติดขัดและโกลาหลกันไม่น้อย

ไซเบอร์ แอทแทค ทำหน้าจอแสดงผลเที่ยวบิน สนามบินบริสตอล ประเทศอังกฤษ ล้มเหลว 2 วัน

                เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 61 ที่ผ่านมา โดยโฆษกของสนามบินได้รายงานว่าสาเหตุที่หน้าจอแสดงผลตารางเที่ยวบินของสนามบินเกิดการขัดข้อง มีสาเหตุมาจากการโจมตีในลักษณะคล้ายกับ “ransomware” ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขให้หน้าระบบหน้าจอแสดงผลสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง รวมถึงจะต้องทำการรวมรวมตารางการเดินทางเข้า-ออก เพื่อให้ระบบสามารถกลับมาสู่การออนไลน์แบบอัตโนมัติได้ ซึ่งในการถูกคุกคามครั้งนี้ไม่ได้มีการเรียกค่าไถ่จากผู้โจมตีเพื่อให้ระบบกลับมาใช้งานได้แต่อย่างใด

Ransomware มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ขู่ลบไฟล์ถ้าไม่ได้เงิน

Ransomware เป็นรูปแบบของมัลแวร์หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่ผู้ถูกคุมคามมักจะได้รับคำขู่ว่าจะลบไฟล์ถ้าไม่มีการจ่ายเงินหรือการจ่ายค่าไถ่ให้ ซึ่งโฆษกสนามบินกล่าวว่าได้ตรวจพบ การพยายามโจมตีโดยเข้ามาออนไลน์ในระบบทำให้สนามบินต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบออฟไลน์แทนระบบออนไลน์อัตโนมัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลของมัลแวร์ ซึ่งหากมีการเข้าถึงข้อมูลการบินและเที่ยวบิน อาจทำให้เกิดผลกระทบอันนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงได้

รายงานกล่าวว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการทำเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์มากกว่าการมุ่งเป้าหมายเพื่อโจมตีสนามบินบริสตอล ซึ่งในขณะนี้ระบบความปลอดภัย รวมถึงเที่ยวบินยังไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนการแสดงผลเที่ยวบินจากระบบออนไลน์มาเป็นระบบเขียนด้วยมือ รวมถึงการใช้แผ่นป้ายและกระดานดำแทนหน้าจอแสดงผลเท่านั้น ซึ่งในการแก้ระบบครั้งนี้ค่อนข้างจะใช้เวลานาน เพื่อให้แน่ใจในเรื่องของความปลอดภัยด้วยความระมัดระวังมากที่สุด และทางสนามบินต้องมั่นใจว่าปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขได้อย่างลุล่วงแล้ว ถึงจะกลับมาใช้งานระบบออนไลน์ได้ตามปกติ

ภัยไซเบอร์ในรูปแบบของมัลแวร์ ไวรัส ที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อขโมยข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นภัยคุกคามที่ต้องระวังกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างผลกระทบทั้งในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความเสียหายกับชื่อเสียง ทรัพย์สิน ไปจนถึงการโจมตีระบบที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและคนหมู่มาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงได้

 

Continue Reading

Autopilot ระบบช่วยขับขี่ของยานพาหนะยุคใหม่

เมื่อพูดถึงเรื่องของ Autopilot หรือระบบการบินอัตโนมัติ หลายคนก็คงจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนี่ เพราะในทางการบินนั้น ก็มีการใช้ระบบนี้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งก็เป็นความจริง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากเครื่องบินแล้วในปัจจุบันยังได้มีการคิดค้นและพัฒนาเพื่อนำเอาระบบ Autopilot นี้มาใช้งานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการขับขี่ให้กับยานพาหนะชนิดอื่น อย่างเช่นรถยนต์ส่วนบุคคลด้วย จะเป็นอย่างไร เราไปติดตามและอัพเดตข่าวคราวทางด้านเทคโนโลยีชนิดนี้กัน

ระบบ Autopilot ของเครื่องบิน

                ก่อนอื่นมารู้จัก และมาทำความเข้าใจกับระบบ Autopilot ของเครื่องบินกันมากขึ้นก่อน ระบบ Autopilot หลัก ๆ ก็คือระบบนำทางของเครื่องบิน เพื่อช่วยให้เครื่องบินเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องแม่นยำและปลอดภัย ซึ่งในเครื่องบินแต่ละลำก็จะมีการติดตั้งระบบ Autopilot ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป และสิ่งที่สำคัญก็คือ ถึงแม้ว่าเครื่องบินจะมีระบบ Autopilot ก็ยังคงต้องอาศัยการทำงานของนักบินและผู้ช่วยในการกำหนดค่าต่าง ๆ รวมถึงต้องคอยสังเกตการณ์เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางการบิน โดยระบบ Autopilot ของเครื่องบินส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย 4 ระบบได้แก่ ระบบตั้งค่าทิศทางการบิน ระบบ Navigation  ระบบควบคุมความสูงของตัวเครื่องบิน เพื่อให้เครื่องบินสามารถไต่ระดับหรือลดระดับความสูงได้อย่างอัตโนมัติ ใครที่นั่งเครื่องบินบ่อย ๆ คงจะคุ้นหูกับการที่กัปตันประกาศว่า ขณะนี้เราอยู่ที่ระดับความสูงเท่านั้นเท่านี้ และระบบช่วยคำนวณในการนำเครื่องขึ้นและจอดเพื่อให้เครื่องบิน แลนดิ้งและเทคออฟ นำผู้โดยสารไปถึงที่หมายได้อย่างสวัสดิภาพ

การนำระบบ Autopilot มาใช้ขับเคลื่อนยานพาหนะชนิดอื่น

                ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้า และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดยั้ง ทำให้บริษัทรถยนต์หลายบริษัทพยายามพัฒนาระบบการขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งมีความคล้ายกับระบบ Autopilot ของเครื่องบิน มาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการขับขี่รถยนต์กันมากขึ้น แต่ระบบเหล่านั้นยังไม่ใช่ระบบ Autopilot หรือการควบคุมการขับขี่อัตโนมัติเสียทีเดียว แต่เป็นระบบช่วยเหลือคนขับที่เรียกว่า Self – assisted Driving เสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น บริษัท Telsa ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ที่ได้นำเอาระบบนี้มาทดลองได้แล้ว แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนการเรียกระบบการขับอัตโนมัติ ที่เคยใช้เรียกก่อนหน้า มาเป็นการใช้คำว่าระบบช่วยขับแทน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน เนื่องจากคนขับยังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมพวงมาลัยอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีนี้ช่วยก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นระบบที่รถยนต์สามารถขับขี่ได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความสับสน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

 

Continue Reading

รถไฟฟ้าขัดข้อง เกี่ยวข้องกับคลื่นมือถืออย่างไร?

                จากสถานการณ์รถไฟฟ้า BTS ขัดข้องบ่อยติดต่อกันหลายวันจนผิดสังเกตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานในเมืองกรุงที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนหงุดหงิดไม่สบอารมณ์ไปตาม ๆ กัน และก็พากันสงสัยถึงระบบการทำงาน ว่าทำไมถึงปล่อยให้ระบบเดินรถสาธารณะที่มีผู้คนใช้งานเป็นจำนวนมาก ขัดข้องบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น จนกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งในที่สุดก็ทราบสาเหตุว่าความขัดข้องในครั้งนี้ เกิดจากคลื่นสัญญาณรบกวนกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แล้วมันเกี่ยวอะไรกัน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อข้องใจกัน

การทำงานของรถไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่อย่างไร  

                ในการทำงานและการเดินรถของระบบรถไฟฟ้านั้นจะใช้การสื่อสารแบบไร้สายเพื่อใช้ควบคุมการเดินรถเพื่อส่งตำแหน่งของรถไฟฟ้าทุกคันไปให้ศูนย์ควบคุมทราบ รวมถึงรถแต่ละคนจะต้องทราบตำแหน่งของรถคันหน้าเพื่อการเว้นระยะที่ปลอดภัย ซึ่งคลื่นความถี่ที่รถไฟฟ้า BTS ใช้ในการควบคุมการสั่งการก็คือคลื่น 2400 MHz นั่นเอง ซึ่งตั้งแต่ในอดีตรถไฟฟ้า BTS ไม่ได้มีการสร้างระบบป้องกันการรบกวนสำหรับการใช้งานคลื่น 2400 MHz ที่ว่านี้        

คลื่นมือถือกระทบการทำงานของรถไฟฟ้าได้อย่างไร         

เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบสื่อสารไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คลื่นความถี่เพื่อส่งสัญญาณควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งผ่านข้อมูลของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันค่ายมือถือดีแทคได้มีการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz ในการทดสอบการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยทำการทดลองใช้คลื่น 2300 MHz ที่ได้มีการติดตั้งสถานีฐานบนเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 20 สถานี ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานว่า ทำให้เกิดการรบกวนกับของคลื่นความถี่ที่อยู่ในช่วงคลื่นใกล้กัน และอีกหนึ่งสาเหตุก็น่าจะเกิดจากการที่ปัจจุบันคลื่นความถี่ 2400 MHz เป็นคลื่นความถี่เสรีที่เปิดให้มีการใช้ส่งสัญญาณไวไฟได้ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรบกวนกันของสัญญาณ ซึ่งส่งผลให้ระบบการเดินรถของรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง ซึ่งล่าสุดทาง DTAC ก็ได้ปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่นดังกล่าวแล้ว

จากข่าวคราวความคืบหน้าล่าสุด (27 มิ.ย. 2561) ทาง กสทช. หน่วยงานดูแลและกำกับด้านคลื่นความถี่ของประเทศไทย ได้ออกมาแถลงว่าสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้า BTS ขัดข้องในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องมาจากการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของโทรศัพท์มือถือ รบกวนการทำงานของระบบรถไฟฟ้าจริง และแนะนำให้ทาง BTS ย้ายช่วงคลื่นความถี่ใช้ในการส่งสัญญาณ เพื่อควบคุมการเดินรถให้ห่างจากช่วงคลื่น 2300 MHz ของดีแทคมากที่สุด และในระหว่างนี้ก็ให้ทางค่ายมือถืองดทดลองการส่งสัญญาณ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดข้องของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุนี้อีก

 

Continue Reading