เยอรมนีเปิดตัวรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลก

การพัฒนาและคิดค้นทางเลือกของการใช้พลังงานแทนการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลก ที่ได้เข้าสู่การบริการเชิงพาณิชย์ในเขต Lower Saxony ของประเทศเยอรมนีแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 61 ที่ผ่านมา
รถไฟฟ้าขับเคลื่อนพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคันแรกของโลก

Alstom iLint ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีความเร็ว 140 กม./ชม. โดยรถไฟ Alstom Coradia iLint 2 ขบวนจะเริ่มวิ่งในเส้นทางที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ระหว่าง Cuxhaven Bremerhaven Bremervörde และ Buxtehude ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเดินรถไฟได้เคยใช้รถไฟเชื้อเพลิงดีเซล ที่ดำเนินการโดยบริษัท Eisenbahnen und Verkehrsbetriebe Elbe-Weser (EVB) มาก่อน

รถไฟขบวนใหม่นี้จะทำการเติมเชื้อเพลิงที่สถานีเติมไฮโดรเจน โดยการฉีดก๊าซไฮโดรเจนลงในถังเหล็กบรรจุขนาด 40 ฟุตที่สถานี Bremervörde เป็นจำนวน 1 ถัง เพื่อให้เพียงพอสำหรับระยะทางการวิ่ง 1,000 กิโลเมตร ส่วนสถานีเติมเชื้อเพลิงของบริษัท EVB จะเริ่มดำเนินการในปี พ. ศ. 2564 หลังจากที่ Alstom ส่งรถไฟ Coradia iLint จำนวน 14 ขบวนไปยังหน่วยงานขนส่งของ Landesnahverkehrsgesellschaft Niedersachsen (LNVG) แล้ว ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 81 ล้านยูโร

Henri Poupart-Lafarge ประธานและซีอีโอของ Alstom กล่าวว่า รถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรายแรกของโลกกำลังจะเริ่มให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นศักราชใหม่ในสำหรับระบบขนส่งทางรถไฟรูปแบบปลอดสารเคมี ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานของทีมวิศวกรจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

รถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนการปล่อยมลพิษต่ำ ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ความสามารถในการทำงานของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนรถไฟที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

ดร. แบร์นด์อัลฮุสแมนน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของโลว์เออร์แซกซอน กล่าวว่า รถไฟเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศเยอรมนีในการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีใหม่ โดยการระดมทุนโครงการนวัตกรรมแห่งชาติด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นทางเลือกที่มีอัตราการการปล่อยมลพิษต่ำและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงดีเซล

รถไฟขบวนนี้ได้เปิดให้ทดลองนั่งไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทผู้ผลิตที่ทำการผลิตรถไฟมาเป็นเวลากว่า 60 ปี เชื่อมั่นว่ารถไฟคันนี้ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสูงอีกทั้งยังมีค่าความสามารถในการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้สูงถึง 90% และเป็นกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลถึง 50%

ถือเป็นการเปิดตัวนวัตกรรมของรถไฟฟ้าพลังงานทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษและการเกิดก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

Continue Reading

รถไฟฟ้าขัดข้อง เกี่ยวข้องกับคลื่นมือถืออย่างไร?

                จากสถานการณ์รถไฟฟ้า BTS ขัดข้องบ่อยติดต่อกันหลายวันจนผิดสังเกตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานในเมืองกรุงที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนหงุดหงิดไม่สบอารมณ์ไปตาม ๆ กัน และก็พากันสงสัยถึงระบบการทำงาน ว่าทำไมถึงปล่อยให้ระบบเดินรถสาธารณะที่มีผู้คนใช้งานเป็นจำนวนมาก ขัดข้องบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น จนกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งในที่สุดก็ทราบสาเหตุว่าความขัดข้องในครั้งนี้ เกิดจากคลื่นสัญญาณรบกวนกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แล้วมันเกี่ยวอะไรกัน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อข้องใจกัน

การทำงานของรถไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่อย่างไร  

                ในการทำงานและการเดินรถของระบบรถไฟฟ้านั้นจะใช้การสื่อสารแบบไร้สายเพื่อใช้ควบคุมการเดินรถเพื่อส่งตำแหน่งของรถไฟฟ้าทุกคันไปให้ศูนย์ควบคุมทราบ รวมถึงรถแต่ละคนจะต้องทราบตำแหน่งของรถคันหน้าเพื่อการเว้นระยะที่ปลอดภัย ซึ่งคลื่นความถี่ที่รถไฟฟ้า BTS ใช้ในการควบคุมการสั่งการก็คือคลื่น 2400 MHz นั่นเอง ซึ่งตั้งแต่ในอดีตรถไฟฟ้า BTS ไม่ได้มีการสร้างระบบป้องกันการรบกวนสำหรับการใช้งานคลื่น 2400 MHz ที่ว่านี้        

คลื่นมือถือกระทบการทำงานของรถไฟฟ้าได้อย่างไร         

เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบสื่อสารไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คลื่นความถี่เพื่อส่งสัญญาณควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งผ่านข้อมูลของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันค่ายมือถือดีแทคได้มีการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz ในการทดสอบการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยทำการทดลองใช้คลื่น 2300 MHz ที่ได้มีการติดตั้งสถานีฐานบนเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 20 สถานี ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานว่า ทำให้เกิดการรบกวนกับของคลื่นความถี่ที่อยู่ในช่วงคลื่นใกล้กัน และอีกหนึ่งสาเหตุก็น่าจะเกิดจากการที่ปัจจุบันคลื่นความถี่ 2400 MHz เป็นคลื่นความถี่เสรีที่เปิดให้มีการใช้ส่งสัญญาณไวไฟได้ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรบกวนกันของสัญญาณ ซึ่งส่งผลให้ระบบการเดินรถของรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง ซึ่งล่าสุดทาง DTAC ก็ได้ปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่นดังกล่าวแล้ว

จากข่าวคราวความคืบหน้าล่าสุด (27 มิ.ย. 2561) ทาง กสทช. หน่วยงานดูแลและกำกับด้านคลื่นความถี่ของประเทศไทย ได้ออกมาแถลงว่าสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้า BTS ขัดข้องในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องมาจากการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของโทรศัพท์มือถือ รบกวนการทำงานของระบบรถไฟฟ้าจริง และแนะนำให้ทาง BTS ย้ายช่วงคลื่นความถี่ใช้ในการส่งสัญญาณ เพื่อควบคุมการเดินรถให้ห่างจากช่วงคลื่น 2300 MHz ของดีแทคมากที่สุด และในระหว่างนี้ก็ให้ทางค่ายมือถืองดทดลองการส่งสัญญาณ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดข้องของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุนี้อีก

 

Continue Reading

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

ในยุคที่เราต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน การคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเป็นการทดแทนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป จึงทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ นั่นคือ นวัตกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั่นเอง

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Car) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยนำเอาพลังงานไฟฟ้าที่เก็บอยู่ในแบตเตอรี่ หรือในอุปกรณ์เก็บไฟฟ้ารูปแบบอื่นมาใช้ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์มีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานแทนเครื่องยนต์แบบสันดาป เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาทางท่อ และเป็นการช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน อีกทั้งการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยให้รถออกตัว เร่งได้อย่างรวดเร็วกว่า ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่ารถมีความเบาและปราดเปรียวกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้นวัตกรรมของรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงในปัจจุบันที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ได้มีการนำเสนอนวัตกรรมออกสู่ตลาดและนำไปสู่การจำหน่ายเพื่อใช้งานจริง

รถยนต์ไฟฟ้าได้มีการนำเสนอและเปิดตัวจากค่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้าจากค่าย Nissan รุ่น Nissan Leaf ซึ่งเป็นนวัตกรรมประหยัดพลังงานจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการออกแบบให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นโดยสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางถึง 400 กิโลเมตร ด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า 110 กิโลวัตต์ รวมถึงยังมีนวัตกรรมการขับขี่อัตโนมัติที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถควบคุมการขับเคลื่อนได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากอีกหลายยี่ห้อ ที่ได้มีการพัฒนานวัตกรรมนี้ออกมาสู่ตลาด อาทิเช่น Ford Focus Electric ที่สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 122 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งและ Mitsubishi i-MiEV ที่ออกแบบเป็นรถยนต์ขนาด 5 ประตู ขนาดเล็กที่สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ซึ่งในการชาร์จไฟแต่ละครั้งหากเป็นไฟบ้านจะใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามรถพลังงานไฟฟ้าก็ยังมีจุดอ่อนในหลาย ๆ ด้าน ที่ต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อให้สามารถสามารถใช้งานได้จริง เนื่องด้วยข้อจำกัดของพลังงานแบตเตอรี่ที่อาจจะทำให้รถไม่สามารถวิ่งไปได้ไกลมาก และด้วยข้อจำกัดเรื่องของสถานีประจุไฟฟ้าที่ยังมีน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องของการชาร์จพลังงาน หากต้องใช้รถในการเดินทางไกล รวมถึงระยะเวลาในการชาร์จแบตก็ยังใช้เวลานาน ส่วนใหญ่กว่าจะชาร์จแบตได้เต็ม ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4-5 ชั่วโมง ทำให้เสียเวลาในการรอ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ายังผลิตออกมาในท้องตลาดน้อย ส่งผลให้รถยนต์ประเภทนี้ยังเป็นรถยนต์ที่มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่านวัตกรรมของรถยนต์ไฟฟ้านี้จะถูกพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานได้จริงเมื่อไหร่

 

Continue Reading