Cyber Attack ภัยคุกคามยุคใหม่ ล่าสุดทำจอแสดงผลเที่ยวบินดับถึง 2 วัน

                ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของคนเรา ทำให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปรวมถึงรูปแบบของการโจมตีและการคุกคามที่มาในรูปแบบดิจิตอล เป็นสิ่งที่พบเห็นและต้องระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะล่าสุด ภัยไซเบอร์ไม่ได้เป็นการคุกคามเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลหรือการโจรกรรมเท่านั้น แต่ได้ลุกลามสร้างความเดือดร้อนไปยังระบบขนส่งสาธารณะอย่างในสนามบิน ทำให้การเดินทางของผู้คนต้องเกิดความติดขัดและโกลาหลกันไม่น้อย

ไซเบอร์ แอทแทค ทำหน้าจอแสดงผลเที่ยวบิน สนามบินบริสตอล ประเทศอังกฤษ ล้มเหลว 2 วัน

                เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 61 ที่ผ่านมา โดยโฆษกของสนามบินได้รายงานว่าสาเหตุที่หน้าจอแสดงผลตารางเที่ยวบินของสนามบินเกิดการขัดข้อง มีสาเหตุมาจากการโจมตีในลักษณะคล้ายกับ “ransomware” ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขให้หน้าระบบหน้าจอแสดงผลสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง รวมถึงจะต้องทำการรวมรวมตารางการเดินทางเข้า-ออก เพื่อให้ระบบสามารถกลับมาสู่การออนไลน์แบบอัตโนมัติได้ ซึ่งในการถูกคุกคามครั้งนี้ไม่ได้มีการเรียกค่าไถ่จากผู้โจมตีเพื่อให้ระบบกลับมาใช้งานได้แต่อย่างใด

Ransomware มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ขู่ลบไฟล์ถ้าไม่ได้เงิน

Ransomware เป็นรูปแบบของมัลแวร์หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่ผู้ถูกคุมคามมักจะได้รับคำขู่ว่าจะลบไฟล์ถ้าไม่มีการจ่ายเงินหรือการจ่ายค่าไถ่ให้ ซึ่งโฆษกสนามบินกล่าวว่าได้ตรวจพบ การพยายามโจมตีโดยเข้ามาออนไลน์ในระบบทำให้สนามบินต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบออฟไลน์แทนระบบออนไลน์อัตโนมัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลของมัลแวร์ ซึ่งหากมีการเข้าถึงข้อมูลการบินและเที่ยวบิน อาจทำให้เกิดผลกระทบอันนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงได้

รายงานกล่าวว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการทำเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์มากกว่าการมุ่งเป้าหมายเพื่อโจมตีสนามบินบริสตอล ซึ่งในขณะนี้ระบบความปลอดภัย รวมถึงเที่ยวบินยังไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนการแสดงผลเที่ยวบินจากระบบออนไลน์มาเป็นระบบเขียนด้วยมือ รวมถึงการใช้แผ่นป้ายและกระดานดำแทนหน้าจอแสดงผลเท่านั้น ซึ่งในการแก้ระบบครั้งนี้ค่อนข้างจะใช้เวลานาน เพื่อให้แน่ใจในเรื่องของความปลอดภัยด้วยความระมัดระวังมากที่สุด และทางสนามบินต้องมั่นใจว่าปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขได้อย่างลุล่วงแล้ว ถึงจะกลับมาใช้งานระบบออนไลน์ได้ตามปกติ

ภัยไซเบอร์ในรูปแบบของมัลแวร์ ไวรัส ที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อขโมยข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นภัยคุกคามที่ต้องระวังกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างผลกระทบทั้งในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความเสียหายกับชื่อเสียง ทรัพย์สิน ไปจนถึงการโจมตีระบบที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและคนหมู่มาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงได้

 

Continue Reading

แฮกเกอร์ ปัญหากวนใจตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่

                 ในโลกที่เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และดูเหมือนว่าเรื่องส่วนตัวหรือความลับก็จะไม่กลายเป็นความลับอีกต่อไป ซึ่งจริงอยู่ว่าบางเรื่องไม่ใช่เรื่องใหญ่ และบางคนก็อยากให้คนอื่นรู้เรื่องส่วนตัวของตัวเองด้วยซ้ำ ด้วยการโพสเรื่องราวส่วนตัวลงในช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีชอบใจให้เรื่องส่วนตัวของตัวเองกลายเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่เพียงเรื่องส่วนบุคคล การทำธุรกิจ การเก็บข้อมูลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ต้องเป็นข้อมูลที่จัดเก็บในระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบการป้องกันอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลสำคัญหรือข้อมูลที่เป็นความลับไปอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ของอาชญากรหรือมิจฉาชีพที่นิยมเรียกกันว่าแฮกเกอร์ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ในอนาคต

ความหมายของแฮกเกอร์

                แฮกเกอร์ ผู้โจรกรรมข้อมูล หรือที่บางแหล่งเรียกกันว่านักเลงคอมพิวเตอร์ หมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ โปรแกรม โลกออนไลน์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำว่าผู้เชี่ยวชาญในความหมายของแฮกเกอร์นั้น สุ่มเสี่ยงไปในทางที่ไม่ดีนัก เนื่องจากคำว่าแฮกเกอร์เป็นคำที่ใช้เรียกผู้เชี่ยวชาญที่คอยโจรกรรมข้อมูล รหัส หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคล หน่วยงาน บริษัท องค์กรเพื่อประโยชน์ในทางไม่ชอบ ซึ่งแฮกเกอร์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวิธีการและขั้นตอนการแฮก ตั้งแต่การเดารหัสผ่าน การแฝงตัวเข้ามาในโปรแกรมหรือหน้าเว็บต่าง ๆ ในช่องทางออนไลน์ ไปจนถึงการโจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือแหล่งเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยไวรัส สแปม หรือมัลแวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

แฮกเกอร์ได้ประโยชน์อะไร

                ตามที่ได้กล่าวไปการแฮกหรือการโจรกรรมข้อมูลมีตั้งแต่ภาพเล็ก คือเรื่องส่วนบุคคลไปจนถึงภาพใหญ่ในเรื่องของข้อมูลระดับโลก ที่มีผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของแต่ละประเทศ ในเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากแต่ก็สร้างความยุ่งยากรำคาญใจก็อย่างเช่น การโดนแฮกอีเมล์ รหัสผ่านของโซเชียลมีเดีย เพื่อการโฆษณาสินค้าหรือสร้างความเสื่อมเสีย การโจรกรรมเข้าไปลบข้อมูลที่สำคัญ หรือขั้นร้ายแรงอย่างเช่นการขโมยข้อมูลส่วนตัวด้านการเงิน การเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์ รหัสบัตรเครดิต การเผยแพร่ข้อมูลความลับขององค์กรหรือหน่วยงานรัฐบาลออกสู่สาธารณะชน หรือแฮกเข้ามาเผยแพร่ข้อมูลเพื่อดิสเครดิตหรือสร้างความเสื่อมเสีย ลดความน่าเชื่อถือขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ

การโจรกรรมข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในโลกดิจิตอล ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยุ่งยากอีกต่อไป รวมถึงยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วัน ซึ่งหากพวกเขาเหล่านั้นนำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องแล้วละก็ อาจจะทำให้ความเสียหายใหญ่หลวงเกิดขึ้นได้

 

Continue Reading