รถยนต์เดินได้แนวคิดใหม่สำหรับการเคลื่อนที่แบบไร้ขีดจำกัด

เมื่อพูดถึงรถยนต์ทุกคนต้องคิดถึงยานพาหนะที่มีล้อ 4 ล้อไว้สำหรับเคลื่อนที่  เพื่อพาให้ผู้โดยสารไปยังจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ในปัจจุบันรถยนต์มีประโยชน์อย่างมากเพราะใช้สำหรับการเดินทางไปในทุกสถานที่ได้ตามที่ต้องการ แต่รถยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อ ทำให้ไม่สามารถใช้เดินทางไปในที่ที่ไม่มีถนนได้ เช่น ทางที่เป็นภูเขามีก้อนหินอยู่เต็มไปหมด หรือ บนตัวอาคารสูงต่าง ๆ หรือ ที่ทุรกันดาร สถานที่เหล่านี้ไม่สามารถขับรถยนต์เข้าไปได้ เป็นต้น ในสถานที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ต้องใช้การเดินด้วยเท้าเข้าไป ปัญหาของการเดินก็คือ ความเหนื่อย เมื่อยล้า และไม่สามารถที่จะนำสิ่งของเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้จำนวนมาก เพราะคนมีขีดจำกัดในการที่จะบรรทุกสิ่งของ จะดีแค่ไหนถ้าสามารถนำรถยนต์เข้าไปได้ในทุกสถานที่ ลองคิดดูสิว่าถ้าต้องไปเดินป่าด้วยเท้านอกจากจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางไกลแล้ว ยังต้องหนัก และปวดเมื่อยตัวเพราะต้องขนสัมภาระต่าง ๆ ติดตัวไปด้วยการเที่ยวคงจะไม่สนุกเท่าที่ควร แต่ถ้าสามารถนำรถยนต์เข้าไปได้ การเดินป่าคงจะสนุกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

                รถยนต์เดินได้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดเดิม ๆ ของรถยนต์แบบทั่วไป เพราะเจ้ารถยนต์เดินได้นี้ถูกออกแบบมาให้มีขา 4 ขา แทนล้อ 4 ล้อ มองไกล ๆ มีลักษณะคล้ายหุ่นยนต์ รถยนต์นี้ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ ขา 4 ขาสามารถเคลื่อนที่ได้แบบอิสระ และปรับให้เข้ากับลักษณะของการใช้งานได้ ลักษณะการเดินถูกป้อนข้อมูลการเดินในหลากหลายรูปแบบ เช่น เดินได้เหมือนสัตว์ทั่วไป และยังสามารถพับเก็บขาเหมือนกับสัตว์เลื้อยคลานได้ เป็นต้น ทำให้รถยนต์เดินได้นี้เคลื่อนที่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด รถยนต์เดินได้ใช้งานได้เหมือนรถยนต์ปกติ เพราะถ้านำมาขับขี่บนท้องถนนปกติก็ใช้ความเร็วได้เหมือนรถยนต์ทั่วไป รถยนต์เดินได้ยังใช้สำหรับเดินขึ้นตึกขึ้นอาคาร หรือขึ้นที่สูงได้ถึง 5 ฟุต รถยนต์สามารถเดินไปในสถานที่คับแคบ หรือเดินในสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้ ข้ามสิ่งกีดขวางหรือร่องได้กว้าง 15 ฟุต เมื่อรถยนต์เดินได้แบบนี้หลาย ๆ คนคงคิดว่าการต้องนั่งอยู่บนรถยนต์ชนิดนี้คงปวดหัวน่าดู ตัวรถหรือห้องโดยสารคงแกว่งไปแกว่งมา ไม่น่านั่งอย่างแน่นอน ถ้าคุณมีความคิดเช่นนี้ขอบอกเลยว่าคิดผิด เพราะห้องโดยสารของรถยนต์เดินได้ถูกออกแบบมาให้รักษาระดับของตัวรถ และห้องผู้โดยสารอยู่ในระดับปกติ รับประกันได้ว่าผู้โดยสารรถยนต์เดินได้จะไม่มีความรู้สึกใด ๆ ในขณะนั่งอยู่บนรถ แต่จะรู้สึกเหมือนโดยสารด้วยรถยนต์ทั่วไป

                นวัตกรรมที่ทันสมัยถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์ ในอนาคตอันใกล้นี้รถยนต์เดินได้จะกลายเป็นนวัตกรรมที่ถูกผลิตออกมาใช้งานบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาใช้งานจริงแล้วจะเกิดประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเดินทาง และในแง่ของการช่วยเหลือผู้คนในที่ประสบภัยต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน

Continue Reading

จะเป็นอย่างไรเมื่อคุณมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนร่วมงาน

                ในโลกที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและหุ่นยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรม รวมถึงในการทำงานร่วมกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายคนคงเริ่มนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องมีหุ่นยนต์เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเราจะทำงานร่วมกับเจ้าสมองกลเหล่านี้ให้เกิดความราบรื่นได้อย่างไร

การทำงานของหุ่นยนต์ร่วมกับมนุษย์จะให้ประสิทธิภาพมากกว่า

จากรายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพด้านการผลิตของประเทศอังกฤษล่าสุดที่ผ่านมา ได้ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบอัตโนมัติสามารถเพิ่มผลผลิต รวมถึงสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก รวมถึงนักวิจัยจาก MIT ยังพบว่าทีมที่ทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ ที่ทำงานให้กับ BMW นั้น มีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์หรือหุ่นยนต์ที่ทำงานเพียงอย่างเดียว ถึงประมาณร้อยละ 85 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเร่งด่วน หรือเมื่อต้องการทำการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ยอดขายที่ต้องอาศัยการขยายกำลังการผลิต หรือในภาคการผลิตที่ต้องการความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น

แล้วมนุษย์จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อย่างราบรื่นได้อย่างไร

ถึงแม้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่ามนุษย์ แต่มนุษย์ก็ยังมีจุดแข็งในเรื่องของทักษะการทำงาน
ใหญ่ไม่ดีเสมอไป ซึ่งเมื่อนำเอามาประยุกต์การทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง จะสามารถขยายทักษะและสร้างจุดแข็งของเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น

แรงงานคนสามารถประยุกต์ใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตอนนี้มนุษย์สามารถใช้แขนหุ่นยนต์ และออกแบบวิธีการเลือกรวมถึงการแพ็คผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้งานเสร็จเร็วกว่า เกิดผลผลิตมากกว่าและสร้างรายได้ที่มากกว่าได้ หรือการใช้หุ่นยนต์ในการลาดตระเวนเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยแทนมนุษย์ให้ สามารถเก็บภาพและความเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า การใช้หุ่นยนต์ควบคุมโดยมีการตั้งค่าหรือตั้งเวลาให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยการเชื่อมโยงกับข้อมูลของระบบต่าง ๆ เช่น การตั้งค่าให้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรเป็นผู้รับผิดชอบด้านการดำเนินการผลิตและการจัดการคลังสินค้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการรวมทุกอย่าง ตั้งแต่ความเร็วสายการผลิตไปจนถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตเหล่านี้ และหุ่นยนต์ก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เมื่อปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมีความเปลี่ยนแปลงภายในไม่กี่วินาที ซึ่งการทำงานเหล่านี้ย่อมมีประสิทธิภาพกว่าการตัดสินใจของมนุษย์

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อปัจจัยแวดล้อมหรือมีเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป ก็แน่นอนว่ามนุษย์ก็จะต้องเป็นคนใส่ข้อมูลใหม่เพื่อเป็นการอัพเดทซอฟต์แวร์ให้หุ่นยนต์สามารถดำเนินการตอบโจทย์ความต้องการได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ต้องมีการทำงานร่วมกัน และวิธีการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือการรวบรวมข้อมูล วางแผน และจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรต้องมาก่อนมาหลังนั่นเอง

 

Continue Reading

นวัตกรรมการพัฒนาหุ่นยนต์ สามารถเลียนแบบเพื่อให้หยิบจับสิ่งของได้เหมือนกับมนุษย์มากขึ้น

                ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องจักรและหุ่นยนต์ล้วนมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้สามารถเคลื่อนไหว ทำงาน โต้ตอบ รวมถึงหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้เหมือนกับมนุษย์ ล่าสุดทีมนักวิจัยชาวอังกฤษก็ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถเลียนแบบมนุษย์ในการจัดการและหยิบจับกับสิ่งของ รวมถึงวัตถุที่มีความละเอียดอ่อนมีพื้นผิวไม่เรียบสม่ำเสมอกัน เพื่อให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับใช้งานภายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เป็นต้น

การพัฒนาหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม

การทำงานของหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้ถือว่ายังมีความแตกต่างกับศักยภาพของมนุษย์ในเรื่องของความชำนาญ โดยใช้การเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ในขณะเดียวกันที่การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก ก็มีความเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 10 ปีผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งนิยมใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์แทนการทำงานด้วยแรงงานคน เนื่องจากเป็นการทำงานกับของแข็ง จึงสามารถควบคุมได้ง่ายกว่า แต่สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ หุ่นยนต์ก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

ทีมนักวิจัยของสหราชอาณาจักร นำโดย ดร. Lorenzo Jamone จาก Queen Mary University of London ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก EPSRC กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถเลียนแบบมนุษย์ เพื่อจัดการกับวัตถุที่บอบบางและไม่สม่ำเสมอเพื่อขยายการใช้งานภายในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีเสมือนจริงและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสวมใส่ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้เทคนิคการจัดการกับสิ่งของโดยการเลียนแบบมนุษย์ได้

การทำงานของหุ่นยนต์เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์

เนื่องจากมนุษย์มีความความชำนาญในการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะการจับ เมื่อเจอกับวัตถุที่มีรูปร่างหรือพื้นผิวแตกต่างกัน ให้สอดคล้องกับการทำงานได้อย่างคล่องตัวกว่าการใช้เครื่องจักร เพราะฉะนั้นเพื่อให้หุ่นยนต์ได้เรียนรู้ทักษะนี้จากมนุษย์ นักวิจัยจึงวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีเทเลโฟโต้เทอร์ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถบังคับหุ่นยนต์ได้ด้วยตนเอง โดยผู้ควบคุมจะสวมใส่ถุงมือ พร้อมเซ็นเซอร์ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถตรวจจับ และเลียนแบบการเคลื่อนไหวได้
และเมื่อผู้ควบคุมมีการเปลี่ยนลักษณะท่าทางและการหยิบจับสิ่งของ หุ่นยนต์ก็จะมีการเลียนแบบท่าทางเชื่อมโยงระบบกับลักษณะของสิ่งของที่กำลังสัมผัสอยู่เช่นเดียวกัน และในขณะเดียวผู้ควบคุมก็จะสวมใส่กันแว่นตาเสมือนจริงเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นการทำงานของหุ่นยนต์ผ่านระบบ 3 มิติ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาและช่วยให้หุ่นยนต์จะเรียนรู้ทักษะการจัดการกับสิ่งของเลียนแบบมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้จะช่วยให้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่มีความสามารถเพียงแค่การจัดการ กับวัตถุที่เรียบง่าย ให้มีศักยภาพในการทำงานเพื่อตอบโจทย์สำหรับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรระวัง เมื่ออีกไม่นานหุ่นยนต์อาจเข้ามาทำงานทั้งหมดแทนที่มนุษย์ได้

 

Continue Reading

Robotic Surgery เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

เทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ช่วยในการรักษาโรค วินิจฉัย รวมถึงรักษาอาการต่าง ๆ วันนี้เราจึงได้นำหนึ่งในเทคโนโลยีทางวิศวกรรมของหุ่นยนต์ ที่ได้มีการพัฒนาเพื่อนำมาใช้งานจริงในวงการแพทย์แล้ว นั่นก็คือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic Surgery

                หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีข้อดีคือช่วยให้แผลเล็ก มีอาการบาดเจ็บน้อย และคนไข้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งแนวคิดของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดนี้เริ่มมาจากการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้แทนมนุษย์ ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่คนไม่สามารถเข้าไปได้ จนมาถึงการนำมาใช้งานทางด้านการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในทุกที่เช่นกัน อย่างเช่น ในสมรภูมิสงคราม หรือในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการแพทย์อย่างเร่งด่วน และแพทย์ไม่สามารถไปถึงสถานที่นั้นได้ในทันที จึงได้เริ่มทำการคิดค้นหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยเป็นการควบคุมมาจากระยะไกลโดยศัลยแพทย์

จุดเริ่มต้นของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1985 โดยเป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการเจาะชิ้นเนื้อสมอง จนต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยผ่าตัดเป็นครั้งแรก ในการช่วยผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต จนได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เรื่อยมาเพื่อใช้เป็นการแพทย์ในปัจจุบัน            

                หุ่นยนต์ที่ช่วยทำการผ่าตัดจะมีกระบวนการทำงานประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนของชุดสั่งการ ตัวควบคุม และตัวหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชนิดนี้จะถูกออกแบบมาให้มี 4 แขน โดยมีหลักการทำงานคือ 1 แขนจะทำหน้าที่ถือกล้อง ส่วนอีก 3 แขนจะทำหน้าที่ผ่าตัด โดยมีศัลยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ควบคุมด้วยการมองผ่านจอภาพเพื่อส่งคำสั่งไปยังแขนของหุ่นยนต์ให้ผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการ ทั้งการกรีด ตัด และเย็บเนื้อเยื่อ และด้วยกล้องที่มีความคมชัดอย่างแม่นยำ จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยุ่งยากน้อยลง

                ปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ช่วยผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และยังช่วยในเรื่องของความแม่นยำมากกว่าการผ่าตัดด้วยมือของศัลยแพทย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อกำจัดของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงรวมถึงศัลยแพทย์ที่จะทำการบังคับและควบคุมหุ่นยนต์ประเภทนี้ได้จะต้องได้รับการฝึกฝนและเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น

 

 

Continue Reading

หุ่นยนต์ต้อนรับ จุดเริ่มต้นของการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนคนจริง

               

หุ่นยนต์ คือ เครื่องจักรกลที่ถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างและรูปร่างที่แตกต่างกัน โดยมนุษย์จะเป็นคนที่กำหนดฟังก์ชั่นและหน้าที่การทำงานต่าง ๆ เข้าไปในระบบควบคุมของหุ่นยนต์ ทั้งคำสั่งที่เป็นแบบอัตโนมัติและคำสั่งทางอ้อมอื่น ๆ ซึ่งหลัก ๆ แล้วหุ่นยนต์จะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้งาน คือ หุ่นยนต์ชนิดตั้งอยู่กับที่ และหุ่นยนต์ชนิดเคลื่อนที่ได้ ซึ่งแต่เดิมนั้นการพัฒนาหุ่นยนต์มักจะเป็นการสร้างเครื่องจักรกลขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับงานที่ยากลำบาก เช่น หุ่นยนต์สำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปได้ เป็นต้น

การพัฒนาและประยุกต์ใช้

ปัจจุบันหลายคนคงจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า นวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มาเป็นระยะเวลานานหลายศตวรรษ ทำให้เราคุ้นเคยกับเจ้าหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาพยนตร์ต่าง ๆ และไม่เพียงแต่ในภาพยนตร์เท่านั้น ในระยะหลังเรายังได้เห็นการนำหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาแล้วออกมานำแสดงโชว์ หรือนำมาใช้งานจริงกันอีกด้วย ตัวอย่างการนำหุ่นยนต์มาใช้งานจริงที่เรียกเสียงฮือฮาและเรียกความสนใจจากประชาชนทั่วให้ให้ตื่นตัวกับนวัตกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การนำเอาหุ่นยนต์ใช้เป็นพนักงาน หรือพยาบาลต้อนรับในโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มมีให้เห็นกันแล้วทั้งในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเราเอง

ตัวอย่างของหุ่นยนต์ต้อนรับที่ถูกนำมาใช้งานจริง

เริ่มที่โรงพยาบาลเบลเยียม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ต้อนรับผู้ป่วยเป็นแห่งแรกของโลก เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า Pepper เป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้มีความสูง 140 เซนติเมตร เพื่อเป็นพนักงานต้อนรับผู้ป่วยในแผนกเด็กและผู้สูงอายุของโรงพยาบาล ความพิเศษของเจ้าหุ่นยนต์ Pepper ตัวนี้ก็คือสามารถรับรู้ภาษาได้ถึง 20 ภาษา และสามารถจับเสียงการพูดคุยของมนุษย์ทั้งผู้ชายผู้หญิงและเด็กได้

โรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้เป็นพนักงานต้อนรับเพื่อคอยกล่าวต้อนรับและแนะนำเส้นทางให้กับผู้ป่วยที่สัญจรไปมาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ในโรงพยาบาลแห่งนี้ยังได้มีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ส่งของ และขนส่งสัมภาระ รวมถึงช่วยนำทางผู้ป่วยไปยังแผนกในโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ไม่เพียงต่างประเทศเท่านั้นที่ได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ต้อนรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีโรงพยาบาลเอกชน ได้เริ่มนำเอาหุ่นยนต์มาใช้งานในโรงพยาบาลจริง คือ หุ่นยนต์ในชุดคลุมพยาบาลสีเขียวและสีเหลือง ที่ทำหน้าที่เดินเอกสารตามรางบนพื้น ไปยังจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการลดขั้นตอน และลดการใช้กำลังคนในการเดินเอกสาร ซึ่งถือเป็นไอเดียสุดล้ำของการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้งานจริงในโรงพยาบาลของประเทศไทย

ด้วยนวัตกรรมที่การพัฒนาหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วคงจะต้องติดตามกันต่อไป ว่าเราจะได้เห็นการนำหุ่นยนต์มาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของคนเราในด้านใดกันอีกบ้าง

 

 

Continue Reading