โลกเราจะเป็นเช่นไรหากระบบขนส่ง “ไฮเปอร์ลูป” ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจังจนเป็นทางเลือกหลักในการใช้งาน?

หลายคนคงได้ทราบกันแล้วว่า ในแวดวงเทคโนโลยีและวิศวกรรมตอนนี้เรื่องราวของระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปเป็นกระแสที่มาแรงมากแค่ไหน หลังจากที่ได้เริ่มมีการก่อสร้างเส้นทางไฮเปอร์ลูปอย่างเป็นทางการสายแรกขึ้นในดูไบเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีประเทศร่ำรวยอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และจีน เป็นต้น ระบบไฮเปอร์ลูปในเวอร์ชั่นใช้งานจริงปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอัลฟ่า โมเดล ที่อีลอน มัสก์ได้นำเสนอเป็นครั้งแรกมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะระบบของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวันนั้นเรียกได้ว่าพร้อมเต็มที่แล้วสำหรับการติดตั้งใช้งาน ขอเพียงมีผู้ที่ใจกล้าพอที่จะตัดสินใจลงทุน

ระบบไฮเปอร์ลูปที่ใช้งานได้จริงในตอนนี้มีลักษณะเป็นเช่นไร?

ระบบไฮเปอร์ลูปที่ถูกนำมาใช้งานจริงในตอนนี้โดยบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวัน เป็นที่ใช้พอดวิ่งในท่อเช่นเดียวกับอัลฟ่า โมเดลที่อีลอน มัสก์ได้เริ่มต้นไว้ แต่การขับดันพอดจะไม่ได้อาศัยหลักการอัดอากาศให้พอดวิ่งไปข้างหน้า เหมือนกับการยิ่งปืนลมที่มัสก์ได้นำเสนอ เพราะหากทำแบบนั้นจะทำให้ยากต่อการควบคุมพอดและไม่ปลอดภัย เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปวัน จึงเลือกใช้ระบบขับดันด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถควบคุมพอดได้ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่านั่นเอง

หากระบบไฮเปอร์ลูปถูกนำมาใช้งานจริงจะเกิดประโยชน์อย่างไร?

ระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก โดยพอดจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 1,200 กม./ชม. ภายในท่อสุญญากาศที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ ๆ ที่แต่ก่อนใช้รถไฟความเร็วสูงเดินทาง ที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอาจจะเหลือเพียงไม่กี่นาที ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเช่นนี้นอกจากจะเหนือกว่ารถไฟความเร็วสูงแล้ว ยังเหนือกว่าการใช้เครื่องบินที่ต้องมีระยะเวลาที่ต้องรอระหว่างขึ้นเครื่องและลงเครื่องนานมากด้วย และในระยะยาวแล้วความคุ้มค่าในการลงทุนไฮเปอร์ลูปนั้นจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะหากตั๋วมีราคาถูกกว่าเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูง ก็คาดว่าจะมีผู้คนสนใจใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะมีความสะดวกรวดเร็วคล่องตัวกว่า

มีการวิเคราะห์ว่าในช่วงเริ่มต้นนี้การลงทุนเส้นทางไฮเปอร์ลูปให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดควรเลือกเส้นทางที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ เช่น เส้นทางลอสแองเจลิสกับซานฟรานซิสโก หรือเส้นทางระหว่างสต็อกโฮล์มกับเฮลซิงกิ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งธุรกิจ จะมีผู้สนใจใช้บริการเป็นจำนวนมาก และส่วนมากจะเป็นคนมีฐานะที่ไม่เกี่ยงเรื่องราคาค่าตั๋วที่ตอนแรกอาจจะยังแพงอยู่ ทำให้ระยะเวลาในการคืนทุนเร็ว ในระยะยาวจึงสามารถลดราคาตั๋วเดินทางลงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังอดห่วงไม่ได้ก็คือเรื่องความปลอดภัย เพราะการเดินทางด้วยความเร็วสูงถึง 1,200 กม./ชม.นั้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาคงจะต้องร้ายแรงกว่ารถชนที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.ประสบอุบัติเหตุเป็น 10 เท่าแน่ แค่คิดก็ไม่อยากจะคิดต่อแล้ว นี่คือสิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องรับมือให้ดี และตอบสังคมให้ได้ว่ามีมาตรการป้องกันความปลอดภัยอย่างไร

Continue Reading