E-sport กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ของคนรุ่นใหม่

                ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงจะได้ยินคำว่า E-sport และเรื่องราวของ E-sport กันมากขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่ายังคงมีคนสับสนและงงงวยอยู่ว่า กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้จะเรียกว่ากีฬาได้อย่างไร ความจริงแล้วดูเหมือนเป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่แตกต่างจากเกมที่เด็ก ๆ เล่นกันเสียมากกว่า วันนี้เราจึงจะพาคุณไปรู้จักกับ E-sport กันมากขึ้น

E-Sport คืออะไร

                E-Sport หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ จะว่าไปแล้วก็คือวีดีโอเกมประเภทหนึ่ง ที่ผู้เล่นจะเล่นเป็นประเภทเดี่ยว คือเล่นคนเดียวก็ได้ หรือจะเล่นกันหลาย ๆ คนเป็นทีมก็ได้ ประเภทเกมของ E-Sport ก็จะมีหลายแนวแบ่งเป็นประเทศคล้าย ๆ กับวีดีโอเกมต่าง ๆ ที่เราเห็นกัน ทั้งเกมวางแผน เกมรบ เกมยิง เกมต่อสู้ทั้งประเภทเดี่ยวและประเทศทีม ซึ่งในปัจจุบันวีดีโอเกมประเภทนี้ ได้ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า E-Sport นั่นเอง และไม่ใช่ว่าจะเล่นกันเพื่อความสนุกและความบันเทิงเฉย ๆ E-Sport ได้รับการยอมรับและนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก จนถึงขั้นได้มีการแข่งขันรายการระดับโลกต่าง ๆ มากมายแบ่งเป็นหลายระดับตั้งแต่การแข่งขัน E-Sport ในระดับสมัครเล่นไปจนถึงการแข่งขันในระดับอาชีพเหมือนอย่างนักกีฬาประเภทอื่น

ทิศทางของ E-Sport ในประเทศไทย

                อย่างที่ได้บอกไปว่าปัจจุบัน E-Sport เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับ และจัดให้มีการแข่งขันในระดับอาชีพในนานาประเทศ และในกีฬาเอเชียนเกมที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังจะถึงนี้ E-Sport ก็ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขัน และในปี 2022 E-Sport ก็กำลังจะได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่แข่งขันเพื่อการชิงเหรียญอย่างเป็นทางการครั้งแรกอีกด้วย สำหรับประเทศไทยก็แน่นอนว่าจะมีการส่งนักกีฬาเข้าไปร่วมชิงเหรียญทองในการแข่งขัน E-Sport ที่จะจัดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศไทยได้ประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เพราะฉะนั้นใครที่สนใจกีฬาประเภทนี้ ก็สามารถฝึกฝนความสามารถเพื่อเข้าร่วมแข่งขันไต่เต้าจากระดับมือสมัครเล่นก้าวขึ้นสู่การเป็นนักกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ในระดับอาชีพได้ แต่ทั้งนี้ในระดับเยาวชน ก็อย่าลืมว่า E-Sport ก็เป็นเหมือนวีดีเกมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือการจัดสรรเวลาของตัวเยาวชนเองและการดูแลของผู้ปกครอง ไม่ให้เด็กเกิดความหมกมุ่นกับ E-Sport มากจนเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสังคมตามมาในอนาคตได้

E-Sport เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้วีดีโอเกมสามารถกลายเป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ยกระดับมาให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ที่สามารถสร้างรายได้และสร้างธุรกิจให้กับผู้คนได้ในยุคนี้ โดยใช้เพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และที่ขาดไม่ได้คือการเชื่อมผ่านระบบการสื่อสารไร้สายอย่างอินเตอร์เน็ตนั่นเอง

 

Continue Reading

นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีขนาดเล็กที่มีประโยชน์มหาศาล

 

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญในการคิดค้น ศึกษา ค้นคว้า จนพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ มาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยหลาย ๆ วัตถุประสงค์ ทั้งเพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น ช่วยในเรื่องของสุขภาพ ทางด้านการแพทย์ ช่วยประหยัด อนุรักษ์พลังงาน เพื่อความบันเทิง และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกมากมาย วันนี้เราจึงได้นำอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจในการศึกษา และค้นคว้าพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ นาโนเทคโนโลยี

นาโนเทคโนโลยี เป็นกระบวนการของการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ คือ มีขนาดประมาณ 1-100 นาโนเมตร เพื่อเป็นโครงสร้างของสิ่งประดิษฐ์หรือวัสดุ อุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ตัวอย่างของการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้งาน

  • นาโนเทคโนโลยีกับการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค ในระดับโมเลกุล การคิดค้นตัวยา การสร้างอวัยวะเทียม หรือการสร้างหุ่นยนต์นาโนเพื่อช่วยในการรักษาทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ช่วยแพทย์ด้านทันตกรรม, หุ่นยนต์นาโนเม็ดเลือดแดงเทียมที่ออกแบบมาให้มีขนาดเล็กกว่าเส้นเลือดฝอยทำให้สามารถเคลื่อนที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และวัสดุยาที่ทำหน้าที่ลำเลียงยาเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเผื่อช่วยทำการรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ เป็นต้น
  • นาโนเทคโนโลยีกับการเกษตร ได้แก่ การเจาะรูนาโนไปตรงบริเวณผนังเซลล์ของต้นข้าว และยิงอะตอมที่ต้องการเข้าไปยังเซลล์ของข้าว เพื่อเป็นการพัฒนาพันธ์ข้าวได้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ, การใช้เทคโนโลยีนาโนเข้าไปตรวจจับเชื้อไวรัสเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด และการติดโรคสำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้ง, การนำเอาเทคโนโลยีนาโนมาปรับสภาวะ และยับยั้งสภาพดินเค็ม เพื่อให้เหมาะกับการเพาะปลูกมากขึ้น เป็นต้น
  • นาโนเทคโนโลยีกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การผลิตคอนกรีตที่มีโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยาเพื่อย่อยสลายมลภาวะที่เกิดจากควันของรถยนต์ได้ เพื่อลดมลภาวะบนท้องถนน
  • นาโนเทคโนโลยีกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ การออกแบบเสื้อนาโนที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระ สารอินทรีย์และเชื้อจุลินทรีย์เพื่อช่วยลดการเกิดกลิ่นอับของเสื้อผ้าได้, การออกแบบเสื้อคลุมนาโนที่มีคุณสมบัติกันน้ำและสามารถป้องกันกระแสลม และสามารถป้องกันกันการสกปรกของการจับตัวกันของฝุ่นละอองที่อยู่ในอากาศได้ ทำให้เหมาะกับการใช้งานในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เป็นต้น

ปัจจุบันนาโนเทคโนโลยียังเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการคิดค้น ค้นคว้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เป็นความหวังของมนุษย์ในหลาย ๆ ด้านทั้งการดำรงชีวิต การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่จะสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้ในด้านต่าง ๆ ในอนาคต

 

 

Continue Reading

Robotic Surgery เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

เทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ช่วยในการรักษาโรค วินิจฉัย รวมถึงรักษาอาการต่าง ๆ วันนี้เราจึงได้นำหนึ่งในเทคโนโลยีทางวิศวกรรมของหุ่นยนต์ ที่ได้มีการพัฒนาเพื่อนำมาใช้งานจริงในวงการแพทย์แล้ว นั่นก็คือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic Surgery

                หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีข้อดีคือช่วยให้แผลเล็ก มีอาการบาดเจ็บน้อย และคนไข้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งแนวคิดของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดนี้เริ่มมาจากการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้แทนมนุษย์ ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่คนไม่สามารถเข้าไปได้ จนมาถึงการนำมาใช้งานทางด้านการแพทย์ เนื่องจากแพทย์ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในทุกที่เช่นกัน อย่างเช่น ในสมรภูมิสงคราม หรือในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการแพทย์อย่างเร่งด่วน และแพทย์ไม่สามารถไปถึงสถานที่นั้นได้ในทันที จึงได้เริ่มทำการคิดค้นหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยเป็นการควบคุมมาจากระยะไกลโดยศัลยแพทย์

จุดเริ่มต้นของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1985 โดยเป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการเจาะชิ้นเนื้อสมอง จนต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยผ่าตัดเป็นครั้งแรก ในการช่วยผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต จนได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เรื่อยมาเพื่อใช้เป็นการแพทย์ในปัจจุบัน            

                หุ่นยนต์ที่ช่วยทำการผ่าตัดจะมีกระบวนการทำงานประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนของชุดสั่งการ ตัวควบคุม และตัวหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชนิดนี้จะถูกออกแบบมาให้มี 4 แขน โดยมีหลักการทำงานคือ 1 แขนจะทำหน้าที่ถือกล้อง ส่วนอีก 3 แขนจะทำหน้าที่ผ่าตัด โดยมีศัลยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ควบคุมด้วยการมองผ่านจอภาพเพื่อส่งคำสั่งไปยังแขนของหุ่นยนต์ให้ผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการ ทั้งการกรีด ตัด และเย็บเนื้อเยื่อ และด้วยกล้องที่มีความคมชัดอย่างแม่นยำ จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยุ่งยากน้อยลง

                ปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ช่วยผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และยังช่วยในเรื่องของความแม่นยำมากกว่าการผ่าตัดด้วยมือของศัลยแพทย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อกำจัดของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงรวมถึงศัลยแพทย์ที่จะทำการบังคับและควบคุมหุ่นยนต์ประเภทนี้ได้จะต้องได้รับการฝึกฝนและเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น

 

 

Continue Reading

Virtual Reality เมื่อโลกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของโลกความจริง  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้จินตนาการในโลกสมมติ หรือโลกเสมือนจริงกลายเป็นความจริงได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและผลิตเทคโนโลยีในจินตนาการ เพื่อช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์ความบันเทิงต่าง ๆ วันนี้เราจึงได้นำอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาฝากนั่นคือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Virtual Reality นั่นเอง

                 Virtual Reality หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความเป็นจริงเสมือน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งที่เกินกว่าความเป็นจริงได้ตรงหน้า หรือที่เรียกว่าบรรยากาศเสมือนจริงขึ้นด้วยการอาศัยเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ส่งผลโดยตรงต่อประสาทการมองเห็น รวมถึงอาจมีการใช้เสียงเข้ามาช่วย เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศจำลองในการเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้ เพื่อความบันเทิงและการใช้งานด้านต่าง ๆ

ปัจจุบัน Virtual Reality ได้ถูกนำมาใช้งานจริงในหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น

  • เกม VR (Virtual Reality) ที่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Virtual Reality มาใช้กับความบันเทิงในรูปแบบของการเล่นเกม เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนได้เข้าไปมีส่วนร่วม และเข้าไปมีบทบาทในเกมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกมแนวขับรถที่ให้ความรู้สึกเหมือนผู้เล่นได้เข้าไปอยู่ในสนามแข่งจริง บรรยากาศจริง, เกมจำลองชีวิตใต้ทะเลที่สร้างบรรยากาศเหมือนผู้เล่นได้ไปใช้ชีวิตอยู่ใต้ทะเล, เกมยิงและเกมผจญภัยในอวกาศต่าง ๆ และเกมขับเคลื่อนหุ่นยนต์ เป็นต้น
  • สวนสนุก Virtual Reality ล่าสุดที่ประเทศจีนได้มีการเปิดตัวสวนสนุกเสมือนจริงแห่งแรกของโลก ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งความพิเศษของสวนสนุกแห่งนี้ คือ เด็ก ๆ หรือคนที่ไปเที่ยวชม และเล่นเครื่องเล่นจะได้อรรถรสของการเที่ยวสวนสนุกผ่านแว่นตา VR เพื่อให้ได้พบกับหุ่นยนต์ ตัวการ์ตูน สัตว์ประหลาด และปราสาทในจินตนาการ ที่ออกมาโลดเล่นเหมือนอยู่ข้างกายนักท่องเที่ยวตลอดเวลา
  • การนำเอา Virtual Reality มาช่วยเพิ่มอรรถรสทางด้านการกิน ซึ่งเป็นการสร้างมุมมองการมองเห็นรวมถึงเสียง ไปจนถึงกลิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติให้กับการรับประทานอาหารมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเป็นเมนูอาหารทะเลก็จะมีเสียงคลื่นเข้ามาเป็นองค์ประกอบระหว่างการรับประทานอาหารด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้อุปกรณ์สำหรับสวมใส่ของเทคโนโลยี Virtual Reality ยังได้ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถสวมใส่ และพกพาได้สะดวกในรูปแบบของแว่นตา ที่ประกอบด้วยฟังก์ชันหลาย ๆ อย่าง ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างภาพเสมือนให้กับผู้ที่สวมใส่ได้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นกล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายวีดีโอได้อีกด้วย ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับความนิยม และถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

 

 

Continue Reading

เรือไร้คนขับ นวัตกรรมที่ก้าวหน้าสำหรับการขนส่งสินค้า

                เมื่อพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ หลายคนก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าเทคโนโลยีนี้เป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ล้วนให้ความสนใจการพัฒนาและผลิตเพื่อนำออกสู่ท้องตลาด แต่หากจะพูดถึง “เรือไร้คนขับ” หลายคนคงจะยังไม่ค่อยได้ยินมากนัก และคงจะไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วนวัตกรรมเรือไร้คนขับอาจจะประสบความสำเร็จ และถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายได้ก่อนรถยนต์ไร้คนขับก็เป็นได้

                การออกแบบระบบการทำงานและการควบคุมเรือไร้คนขับก็มีหลักการทำงานคล้ายกับรถยนต์ไร้คนขับ คือ เป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และสมองกลอัจฉริยะ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการขับเคลื่อนของเรือ โดยการใช้เรดาร์และระบบเซนเซอร์เป็นตัวช่วยในการควบคุมการทำงาน อีกทั้งยังมีการส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลอยู่บนฝั่ง เพื่อให้สามารถเข้ามาควบคุมการทำงานได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

                ปัจจุบันเรือไร้คนขับที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ลำแรกของโลกได้มีการออกแบบ และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการผลิต โดยบริษัทขนส่งของประเทศนอร์เวย์ที่ได้ออกแบบเรือขนส่งสินค้าที่ชื่อว่า Yara Birkeland ซึ่งได้มีการวางแผนในการออกแบบและผลิตเรือไร้คนขับเพื่อทำหน้าที่ขนส่งสินค้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้คนขับ และลูกเรือคอยควบคุมและช่วยบังคับเรือเลย เนื่องจากมีระบบนำทางและระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 18.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานด้วยระบบอัตโนมัติได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2019 นี้

นอกจากการออกแบบเรือไร้คนขับเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว กองทัพของสหรัฐอเมริกายังได้มีการออกแบบเรือไร้คนขับที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อใช้เป็นพาหนะทางน้ำอีกด้วย โดยเรือไร้คนขับที่เพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ออกแบบและเปิดตัวออกสู่สาธารณะชนลำนี้มีชื่อว่า “Sea Hunter” ซึ่งเป็นเรือที่มีความยาวถึงประมาณ 40 เมตร สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้งบประมาณในการออกแบบและผลิตอยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 4 พันกว่าล้านบาท โดยคุณสมบัติพิเศษของเรือลำนี้คือสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง และสามารถหลีกเลี่ยงการชนในสภาพทะเลจริงได้ และเป็นการควบคุมการทำงานระยะไกลจากภาคพื้นดิน ซึ่งกองทัพสหรัฐได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมในการนำมาใช้กับงานทางด้านทหารและด้านกองทัพ ด้วยการออกแบบให้เรือลำนี้สามารถตรวจจับเรือดำน้ำล่องหน ไปถึงการพัฒนาให้สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้ในอนาคต ต่อไปเราจะได้เห็นเรือไร้คนขับในรูปแบบไหนอีก ก็คงจะต้องติดตามกัน

 

 

Continue Reading

รถยนต์ไร้คนขับ จินตนาการที่ใกล้เคียงความเป็นจริง

เมื่อพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ หลายคนคงจะนึกถึงฉากภาพยนตร์ในหนังอย่าง Transformer ที่เจ้ารถยนต์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนหุ่นยนต์สามารถสั่งการและควบคุมการเคลื่อนที่ของรถด้วยตัวเองได้ ซึ่งในปัจจุบันแนวคิดของเทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีเฉพาะในหนังหรือในภาพยนตร์เท่านั้น ได้มีการพัฒนานวัตกรรมไปสู่รถยนต์ไร้คนขับที่สามารถขับขี่ได้จริงบนท้องถนน

รถยนต์ไร้คนขับ (Self Driving Car) หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นนวัตกรรมที่ได้ผสมผสานการใช้เทคนิคและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมหลาย ๆ ด้านเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนและควบคุมการทำงานได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยี Computer Vision ทำหน้าที่เป็นเสมือนตาของรถยนต์ ด้วยการติดตั้งกล้องถ่ายภาพและเรดาร์ไว้ตรวจจับวัตถุทั้งที่อยู่นิ่งและเคลื่อนที่อยู่รอบ ๆ ตัวรถ, Deep Learning ทำหน้าที่เป็นสมองของรถยนต์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและควบคุมการขับเคลื่อนของรถยนต์, Robotic ทำหน้าที่แปลงคำสั่งที่ได้รับการประมวลผลแล้ว เพื่อทำการออกคำสั่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์, Navigation ทำหน้าที่วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและเป็นตัวบอกเส้นทางการขับเคลื่อนของรถยนต์

เทคโนโลยีไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่รถยนต์หลายค่ายต่างให้ความสนใจ ในการพัฒนาและออกแบบรถยนต์นำเสนอสู่ท้องตลาด ให้สามารถขับขี่ได้จริงบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นค่าย Google, Apple, Uber, Baidu และ Intel ซึ่งรถยนต์ไร้คนขับที่ได้รับความสนใจ และได้รับการพูดถึงมากที่สุดก็คือ รถยนต์ไร้คนขับจากค่าย Google หรือ Google Car ได้เริ่มการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2009 เป็นรถยนต์ที่ออกแบบมาในลักษณะของ City Car แบบไร้พวงมาลัยและไร้คนขับ เป็นรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง มีระบบเซนเซอร์และระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่คอยควบคุมให้รถสามารถขับเคลื่อนได้จริง ที่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตาน่ารัก ควบคุมได้ด้วยปุ่มบังคับปุ่มเดียว ไม่มีทั้งพวงมาลัย คันเร่งและเบรก มีเพียงที่นั่งและจอบอกเส้นทางให้ผู้นั่งดูเท่านั้น ซึ่ง Google ทำการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไร้คนขับนี้ขึ้นมาก็เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่บนท้องถนน เพราะรถยนต์ที่ออกแบบมานี้มีระบบเซนเซอร์ และระบบตอบสนองที่ดีกว่ามนุษย์ และช่วยทำให้หมดห่วงสำหรับปัญหาเมาแล้วขับ รวมถึงปัญหาการหลับในอย่างแน่นอน

ปัจจุบันรถยนต์ไร้คนขับ ได้ถูกรับรองให้สามารถนำมาวิ่งได้อย่างถูกกฎหมายแล้วในรัฐ California และรัฐมิชิแกนของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องมีการกำหนดให้ต้องมีคนขับนั่งอยู่หน้ารถเพื่อทำการควบคุมการทำงานของรถยนต์หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งก้าวของการพัฒนานำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการขับขี่แบบไร้คนขับออกสู่สาธารณะ

 

 

Continue Reading

Smart Home นวัตกรรมบ้านยุคใหม่ที่ไม่ไกลเกินตัว

บ้าน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุด ที่มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า นวัตกรรมต่าง ๆ ก็ย่อมได้รับการนำมาประยุกต์ใช้กับที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนเรามีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ตลอดไปจนถึงเพื่อเป็นการช่วยประหยัดพลังงานเช่นเดียวกัน ซึ่งบ้านยุคใหม่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านที่เรียกว่าสมาร์ทโฮม (Smart Home) นั่นเอง

สมาร์ทโฮมหรือที่หลายคนนิยมเรียกว่าบ้านอัจฉริยะ คือ การนำเอาระบบการทำงานต่าง ๆ มาผสมผสานกับอุปกรณ์ทั้งภายนอกและภายในบ้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้ประหยัดพลังงาน โดยมีระบบควบคุมแบบอัตโนมัติทั้งแบบผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ในบ้านหรือเป็นการควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล

ปัจจุบันนวัตกรรมของเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมนำเอามาใช้กับบ้านสมาร์ทโฮมที่เราได้เห็นกันบ้างแล้ว ได้แก่

  1. ระบบการควบคุมแสงสว่าง คือ ระบบควบคุมการเปิด ปิด ไฟอัตโนมัติ โดยใช้ระบบเซนเซอร์จับกับแสงสว่างภายนอก เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยเรื่องความปลอดภัยเมื่อเจ้าของบ้านไม่อยู่บ้าน
  2. ระบบควบคุมอุณหภูมิ เป็นระบบควบคุมการทำงานคล้ายกับแสงสว่าง โดยเครื่องปรับอากาศจะมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้แบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงาน
  3. การใช้รีโมทควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ภายในบ้าน เป็นการติดตั้งระบบการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านให้สามารถสั่งการได้ด้วยรีโมท คอนโทรล ตัวอย่างเช่น สั่งเปิด ปิด ไฟไว้ล่วงหน้า, สั่งเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ก่อนที่จะถึงบ้าน, ระบบกุญแจอัจฉริยะที่ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมกุญแจไว้ในบ้านหรือลืมล็อคประตู เพราะสามารถสั่งการควบคุมมาได้ในระยะไกล
  4. ม่านอัจฉริยะ เป็นม่านที่ติดตั้งระบบเซนเซอร์อัตโนมัติ เมื่อมีแสงแดดจ้าในระดับที่ได้มีการกำหนดหรือตั้งค่าไว้ม่านจะทำการรูดมาปิดเองโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
  5. ฝักบัวอัจฉริยะ เป็นฝักบัวที่มีระบบควบคุมการทำงานผ่านเลเซอร์เช่นเดียวกัน โดยจะทำการเปิด ปิดน้ำเมื่อทำการตรวจจับร่างกายของเราได้เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดน้ำได้อีกด้วย

นอกจากระบบและอุปกรณ์ที่เราได้นำมาแนะนำกันในวันนี้แล้ว ยังมีอุปกรณ์สำหรับสมาร์ทโฮมอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งหากใครสนใจนำเอาระบบนวัตกรรมต่าง ๆ ของสมาร์ทโฮมมาติดตั้ง เพื่อใช้งานในบ้านของตนเองก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องติดตั้งระบบ Censor หรือวางระบบ Internet พื้นฐาน เพื่อใช้เป็นตัวควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ อุปกรณ์ต่าง ๆ จึงจะสามารถทำงานสอดคล้องนิยามของคำว่าสมาร์ทโฮมได้อย่างแท้จริง

 

 

 

Continue Reading

โซลาร์เซลล์ หนึ่งในพลังงานทดแทนที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต

พลังงานเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของมนุษย์เราเป็นอย่างมาก วันนี้เราจึงได้นำเอาอีกหนึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาฝากเป็นความรู้ให้กับคุณกัน นั่นก็คือ อุปกรณ์ที่เรียกว่าโซลาร์เซลล์

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรือ เซลล์แสงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานจากแสง เป็นพลังงานไฟฟ้า เนื่องด้วยองค์ประกอบและคุณสมบัติของสาร เช่น ค่าความต้านทาน แรงดัน และกระแส ซึ่งจะเปลี่ยนไปเมื่อมีแสงมาตกกระทบกับแผงโซลาร์เซลล์ โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอกแต่อย่างใด และเมื่อมีการต่อโหลดเพิ่มเข้าไป จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไปในโหลดนั้นได้

การใช้โซลาร์เซลล์มีจุดเด่น คือเป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานธรรมชาติที่ไม่สิ้นเปลือง และใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด ไม่เหมือนกับแหล่งพลังงานอื่น อย่างเช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังได้ชื่อว่าเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือของเสียใด ๆ จากกระบวนการเปลี่ยนพลังงานที่ได้จากแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงผู้ใช้งานยังสามารถเคลื่อนย้ายแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในที่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างง่ายดาย และสะดวกรวดเร็วอีกด้วย

สำหรับข้อเสียของโซลาร์เซลล์ที่ต้องมีการปรับปรุง และพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้เป็นพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ก็คือเรื่องของค่าพลังงานที่ความเข้มข้นของการเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ยังเป็นค่าพลังงานที่ต่ำอยู่ การที่จะให้ได้พลังงานไฟฟ้าสูงจึงจำเป็นที่จะต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งการสังเคราะห์พลังงานประเภทนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ยังต้องมีการพัฒนาให้พลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ สามารถเก็บพลังงานไว้ในอุปกรณ์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต

ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาโซลาร์เซลล์มาติดบนหลังคาบ้าน เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์ และเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าไฟ หรือเป็นพลังงานสำรองในกรณีที่ไฟฟ้าขัดข้องหรือเกิดไฟดับ และไม่เพียงการนำโซลาร์เซลล์มาใช้เป็นพลังงานในครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันภาคเอกชนยังมีการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานขายให้กับภาครัฐอีกด้วย

สำหรับภาคครัวเรือนที่ต้องการติดแผงโซลลาร์เซลล์ไว้ใช้งานภายในบ้าน ปัจจุบันนิยมออกแบบโซลาร์เซลล์ติดไว้บนกระเบื้องหลังคา ไปจนถึงยังมีการออกแบบโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้แทนเป็นกระเบื้องหลังคาเลยก็มี เนื่องจากโซลาร์เซลล์ได้ถูกนำมาประยุกต์ออกแบบได้หลายลักษณะ ทั้งแบบโค้งเว้า เป็นวัสดุที่ใช้แทนผนังเพื่อประหยัดวัสดุอื่น ๆ และเพื่อให้สามารถสังเคราะห์พลังงานได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งประเทศที่นิยมใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดในตอนนี้ก็คือประเทศจีนนั่นเอง

 

 

Continue Reading

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

ในยุคที่เราต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน การคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเป็นการทดแทนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป จึงทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ นั่นคือ นวัตกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั่นเอง

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Car) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยนำเอาพลังงานไฟฟ้าที่เก็บอยู่ในแบตเตอรี่ หรือในอุปกรณ์เก็บไฟฟ้ารูปแบบอื่นมาใช้ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์มีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานแทนเครื่องยนต์แบบสันดาป เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาทางท่อ และเป็นการช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน อีกทั้งการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยให้รถออกตัว เร่งได้อย่างรวดเร็วกว่า ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่ารถมีความเบาและปราดเปรียวกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้นวัตกรรมของรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงในปัจจุบันที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ได้มีการนำเสนอนวัตกรรมออกสู่ตลาดและนำไปสู่การจำหน่ายเพื่อใช้งานจริง

รถยนต์ไฟฟ้าได้มีการนำเสนอและเปิดตัวจากค่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ ได้แก่ รถพลังงานไฟฟ้าจากค่าย Nissan รุ่น Nissan Leaf ซึ่งเป็นนวัตกรรมประหยัดพลังงานจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการออกแบบให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นโดยสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางถึง 400 กิโลเมตร ด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า 110 กิโลวัตต์ รวมถึงยังมีนวัตกรรมการขับขี่อัตโนมัติที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถควบคุมการขับเคลื่อนได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากอีกหลายยี่ห้อ ที่ได้มีการพัฒนานวัตกรรมนี้ออกมาสู่ตลาด อาทิเช่น Ford Focus Electric ที่สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 122 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งและ Mitsubishi i-MiEV ที่ออกแบบเป็นรถยนต์ขนาด 5 ประตู ขนาดเล็กที่สามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ซึ่งในการชาร์จไฟแต่ละครั้งหากเป็นไฟบ้านจะใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามรถพลังงานไฟฟ้าก็ยังมีจุดอ่อนในหลาย ๆ ด้าน ที่ต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อให้สามารถสามารถใช้งานได้จริง เนื่องด้วยข้อจำกัดของพลังงานแบตเตอรี่ที่อาจจะทำให้รถไม่สามารถวิ่งไปได้ไกลมาก และด้วยข้อจำกัดเรื่องของสถานีประจุไฟฟ้าที่ยังมีน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องของการชาร์จพลังงาน หากต้องใช้รถในการเดินทางไกล รวมถึงระยะเวลาในการชาร์จแบตก็ยังใช้เวลานาน ส่วนใหญ่กว่าจะชาร์จแบตได้เต็ม ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4-5 ชั่วโมง ทำให้เสียเวลาในการรอ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ายังผลิตออกมาในท้องตลาดน้อย ส่งผลให้รถยนต์ประเภทนี้ยังเป็นรถยนต์ที่มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่านวัตกรรมของรถยนต์ไฟฟ้านี้จะถูกพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานได้จริงเมื่อไหร่

 

Continue Reading

โดรน นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ ที่ถูกพัฒนานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

                เมื่อพูดถึงโดรน (Drone) หลายคนคงจะคุ้นหู และรู้จักกับโดรนในฐานะของเจ้าเครื่องบินจิ๋วติดกล้อง ที่ควบคุมโดยรีโมทคอนโทรล เพื่อใช้ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในมุมสูงที่คนไม่สามารถจะถ่ายได้ เลยต้องพึ่งเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาช่วย แต่จริง ๆ แล้ว หลักการของโดรนนั้นมาจากอากาศยานไร้คนขับที่เรียกว่า ยูเอวี หรือ โดรน วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับเทคโนโลยีตัวนี้มากยิ่งขึ้น

โดรนหรือยูเอวี คือ อะไร

ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle) หมายถึงอากาศยานที่ไม่มีคนขับ ที่สามารถควบคุมจากระยะไกลได้ด้วยการควบคุมแบบอัตโนมัติ หรือแบบที่ถูกออกแบบมาให้สามารถบินได้ด้วยตัวเอง ด้วยการออกแบบมาให้มีขนาด รูปร่าง ไปจนถึงเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันกันไป ซึ่งยูเอวี ก็คือ โดรน ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง

วัตถุประสงค์ของการใช้โดรนในอดีต

                จุดมุ่งหมายของการพัฒนายูเอวี หรือ โดรนนั้น แต่เดิมถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่สอดแนม และโจมตีทางด้านการทหาร เนื่องจากถือเป็นภารกิจที่อันตรายเกินกว่าการใช้อากาศยานแบบมีคนขับ โดยเทคโนโลยีชนิดนี้ได้ถูกแบ่งหมวดหมู่สำหรับการนำมาใช้งาน ได้แก่ โดรนที่ใช้เป็นเป้าหมายและเป้าล่อ, โดรนสอดแนม, โดรนต่อสู้, โดรนที่ใช้ในการขนส่ง, โดรนที่ออกแบบและผลิตมาเพื่อการใช้งานด้านวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งในการออกแบบนั้นมีความแตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจริง ทั้งลักษณะการบินแบบระยะใกล้, บินแบบประชิด, บินด้วยความบินสูงปานกลาง, บินด้วยความเร็วเหนือเสียง หรือแบบบินในวงโคจรของโลก เป็นต้น

การใช้งานในปัจจุบัน

                ปัจจุบันโดรนได้รับการพัฒนาและประยุกต์เพื่อใช้งานในหลาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้เพื่อสร้างสื่อความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพและการถ่ายวีดีโอ ทั้งในวงการบันเทิง ภาพยนตร์ โดยเฉพาะการนำมาใช้งานของช่างภาพ โดยการใช้โดรนติดกล้องที่มาสเปคและฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น โดรนแบบใช้รีโมทควบคุมที่ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานกับกล้องที่มีระบบปฏิบัติการ IOS และ Android และสามารถนำเสนอภาพให้ผู้ควบคุมสามารถมองเห็นผ่านกล้องได้แบบเรียลไทม์, โดรนที่ออกแบบมาให้สามารถบินได้แบบเอียงตัว เพื่อให้ช่วยเก็บภาพได้ทุกมุมอย่างครอบคลุมมากขึ้น และโดรนที่สามารถล็อคตำแหน่งและความสูงของการบินได้ เป็นต้น

ต่อไปเจ้าเทคโนโลยีโดรนนี้จะถูกพัฒนาไปในด้านใดอีกบ้าง ก็คงจะต้องติดตามกัน เชื่อว่าเราจะได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราเห็นในภาพยนตร์อาจจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสัมผัสได้จริงก็เป็นได้

 

 

Continue Reading